เครือข่ายภาคสังคมประชาชนด้านพลังงาน JustPow จัดซีรีย์ ‘เอายังไงดีกับแผนพีดีพี 2024’ เริ่มต้นภาคตะวันออก กับกิจกรรมเสวนา “แผนพีดีพี 2024 : สิ่งที่อยากเห็นกับสิ่งที่ควรจะเป็น” โดยจัดขึ้นที่โรงแรม ที วินเทจ จ.ฉะเชิงเทรา (18 มิถุนายน 2567) ท่ามกลางผู้สนใจที่มีทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาควิชาการ และกลุ่มประชาสังคมจาก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และปราจีนบุรีเข้าร่วม
สมพร เพ็งค่ํา สถาบันพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบโดยชุมชน เสนอ “เอาประเด็นเรื่องสุขภาพเข้าพิจารณาแผนพีดีพี” เพราะที่ผ่านมาประเด็นเรื่องสุขภาพของคนในพื้นที่ไม่เคยอยู่ในกระบวนการพิจารณาในแผนพัฒนาพลังงาน ชาวบ้านตะวันออกใช้เวลากว่า 10 ปีในการติดตามและประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการพัฒนาโรงไฟฟ้า ตั้งแต่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ จนมีหลักฐานประจักษ์แล้วว่ากระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง
แม้ว่าจะกระทบต่อสุขภาพและวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ แต่การต่อสู้กับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระดับโครงการในพื้นที่ต่างๆ ให้ยุติลงไม่ใช่เรื่องง่าย หน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการมักอ้างแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะถูกกำหนดไว้แล้วในแผนพีดีพีที่ผ่านมา ประชาชนจึงต้องสนใจพีดีพีและเข้ามีส่วนในการตัดสินใจว่า ประชาชนเห็นว่าการเกิดโรงไฟฟ้าต่างๆ ในพื้นที่แลกกับผลกระทบสุขภาพของประชาชนอย่างไร
กัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายเพื่อนตะวันออก เสนอให้แผนพีดีพีต้องลดผลกระทบ ลดการรวมศูนย์ ให้มีอธิปไตยทางพลังงาน ชี้ ภาคตะวันออกก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard เคยมีโครงสร้างเศรษฐกิจและรายได้ที่สมดุลย์ กระจายตัวการค้าและบริการ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่าๆ กัน ผ่านไปเพียง 30 ปี ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ กินภาคอื่นๆ ไปหมด ภาคอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่ตะวันออก ทำให้ต้องใช้พลังงานมากและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง สร้างผลกระทบต่อพื้นที่และกำลังเติบโตเกินขีดจำกัดต่างๆ
ดังนั้น แผนพีดีพีที่กำลังดำเนินการ จึงควรคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ และให้กระบวนการการจัดทำแผนต้องลดการรวมศูนย์ และให้พื้นที่ต่างๆ มีอธิปไตยทางพลังงาน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ ทีมเกาะจิก รีชาร์จ สเตชั่น ยกตัวอย่างความสำเร็จของการประยุกต์ใช้โซลาร์เซลล์ระบบไฮบริดที่มีแบตเตอรี่สามารถใช้งานในชุมชนโฮมสเตย์ได้ เกิดจากรวมพลังงานของคนรุ่นใหม่กับประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างมาตรการทางการเงินการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโซลาร์เซลล์จากต่างประเทศ จะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนหันมาใช้โซลาร์เซลล์มากขึ้น
กมลลักษณ์ สุขพลี กลุ่มรักษ์คลองมะเดื่อ ตั้งคำถามในฐานะผู้ใช้ไฟว่าทำไมการสำรองไฟฟ้ามากจนพอจะขายต่อ แต่ทำไมค่าไฟฟ้ายังแพงและทำให้ประชาชนต้องแบกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เสนอว่าพีดีพี ควรให้รัฐสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงโซลาร์เซลล์ได้ง่ายขึ้นและถูกลง โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงไฟฟ้าพื้นฐาน
ทั้งนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Webinar) สำหรับกลุ่มประชาชนในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา
เครือข่ายภาคสังคมประชาชนด้านพลังงาน JustPow และองค์กรเครือข่ายต่างๆ เตรียมเดินสายทั่วประเทศทุกภูมิภาค โดยจัดซีรีย์ ‘เอายังไงดีกับแผนพีดีพี 2024’ ครั้งต่อไปภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2567