เมนูเนื้อครึ่งแดด สเต็กเนื้อ และเนื้อสไลด์ไทยวากิว มีไขมันแทรก เหมาะสำหรับเมนูอย่างชาบู ลวกจิ้มและปิ้งย่าง เมนูโปรดของหลายคน ล้วนเป็นผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด ที่รวมกลุ่มกันกว่า 50 คน ในชื่อ ‘เครือข่ายโคเนื้อทุ่งกุลา’
สว่าง สุขแสง ผู้ประสานงานเครือข่าย ถือเป็นหัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อน พร้อมผลักดันให้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านจากทุ่งกุลาร้องไห้ได้เป็นที่รู้จัก เปิดเผยกับทีมข่าว Spacebar Big City กว่าจะเป็น ‘กุลาบีฟ’ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
พร้อมเล่าถึงจุดเริ่มของการรวมตัว เครือข่ายโคเนื้อทุ่งกุลา เกิดมาจากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่ไม่สอดรับกับการลงทุน ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการกู้ยืม ประกอบกับปัญหาเนื้อวัวเถื่อนทะลักเข้าไทยปีละกว่า 100,000 ตัน อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศ ทำให้วัวเป็น ราคาขายไม่ถึง 70 บาทต่อกิโลกรัม

“กลุ่มผู้เลี้ยงวัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด หาทางรอดด้วยการรวมตัวเป็นเครือข่ายโคเนื้อทุ่งกุลา ตั้งแต่ปี 2561 กระทั่งรัฐบาลมีนโยบายการนำเข้าเนื้อราคาถูกจากต่างประเทศ โดยมีข้ออ้างเรื่องการผลิตที่ได้มาตรฐาน ขายบนห้างสรรพสินค้าที่ได้รับการยอมรับ ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อเนื้อราคาถูกมากขึ้น ส่งผลให้ราคาวัวเป็นเหลือราคากิโลกรัมละ 50-60 บาทเท่านั้น”
ขณะที่ชาวบ้านต้องขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท จึงจะได้กำไร เกษตรกรจึงล้อมวงกันพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล จนได้ข้อสรุปว่าไม่ว่าราคาวัวจะตกต่ำ หรือ ราคาสูง ราคาขายในท้องตลาดที่ผู้บริโภคซื้อยังคงเท่าเดิมคือเฉลี่ยกิโลกรัมละ 300 บาท เพราะพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาขายในท้องตลาด
“ในเมื่อเรายังกินเนื้อ วัวที่เราเลี้ยงขายให้ในราคาถูก เมื่อพ่อค้าคนกลางเป็นคนตั้งราคาขาย เนื้อที่ส่งกลับมาขายให้เกษตรกรก็ยังคงมีราคาสูงเหมือนเดิม”

เครือข่ายโคเนื้อทุ่งกุลา จึงได้บทสรุปว่า พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคา ทำให้สมาชิกที่มีแนวคิดตรงกัน ต้องการพัฒนาโคเนื้อหันมารวมกลุ่มอย่างจริงจัง เน้นการผลิตทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการเลี้ยง ชำแหละ การตลาด และประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
‘สว่าง’ บอกอีกว่า ทุกคนเริ่มต้นจากศูนย์ สิ่งที่ทำคือพยายามหาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ กว่า 2 ปีที่มีการรวมกลุ่มของเครือข่ายโคเนื้อทุ่งกุลาอย่างจริงจัง มีสมาชิกที่ร่วมก้าวแรก แบ่งเป็น 2 ส่วน คือสมาชิกที่เป็นฝ่ายผลิต 50 คน และสมาชิกลงหุ้น 10 คน ทั้งหมดร่วมลงทุนถือว่ามีแนวคิดและเชื่อมั่นว่า เกษตรกรชาวไร่ ชาวนา สามารถบริหารจัดการระบบการตลาดโคเนื้อได้
ที่สำคัญคือเห็นว่ากลุ่มผู้บริโภคพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กล้าชิม กล้าลอง สินค้าใหม่ๆ ไม่นานเครือข่ายเปิดตัวแบรนด์พื้นบ้านที่ใช้ชื่อว่า ‘กุลาบีฟ’ ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคในชุมชน ที่สามารถซื้อหาเนื้อที่มีคุณภาพมารับประทานได้ในราคาถูก
เมื่อเริ่มต้นจากศูนย์ เกษตรกรเครือข่ายจึงเน้นการเลี้ยงวัวลูกผสม เลี้ยงตามขั้นตอนที่กำหนด ได้ลองผิดลองถูกทุกขั้นตอน ทำให้เชื่อว่าเนื้อทุ่งกุลาไม่ด้อยไปกว่าเนื้อที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญตั้งราคาขายได้ถูกกว่า
“เนื้อพรีเมี่ยม เกรดขายตามท้องตลาดราคากิโลกรัมละกว่า 4,000 บาท ขณะที่เนื้อทุ่งกุลาขายได้ในราคากิโลกรัมละ 300-400 บาท ทำให้ชาวบ้านสามารถซื้อหามารับประทานได้ ในรสชาติที่อร่อยไม่แพ้กัน”
นอกจากนี้ทางเครือข่ายยังปรับเปลี่ยนทั้งการปรุงแต่ง ภาพลักษณ์อาหารที่มีความผสมผสานระหว่างความเป็นอาหารอีสานและอาหารตะวันตกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นให้กับผลิตภัณฑ์
“ก้าวแรกของเครือข่ายคือการเป็นหนึ่งใน 13 ชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหาร 22 เมนูใหม่ดีพร้อม โดยเครือข่ายโคเนื้อทุ่งกุลา มี 2 เมนู คือ สเต็กแพรวพราว และ โอมากาเสะซอยจุ๊ ออกแบบเมนูโดยเชฟชุมพล ถือเป็นโครงการที่ยกระดับวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการชุมชน การพัฒนาองค์ความรู้ สร้างมูลค่าวัตถุดิบท้องถิ่น เผยแพร่อัตลักษณ์วิถีชุมชน จากการนำวัตถุดิบท้องถิ่นผสมผสานภูมิปัญญาและวิถีชีวิต หลังจากนี้ทางเครือข่ายตั้งใจทำการตลาด โดยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเนื้อที่มีคุณภาพดี ราคาถูกได้มากขึ้น ยิ่งจะทำให้เกษตรกรขายเนื้อได้มากขึ้นในราคาที่เป็นธรรม”

สำหรับก้าวต่อไปของเครือข่ายโคเนื้อทุ่งกุลา คือทำให้ชุมชนรู้จักแบรนด์ ‘กุลาบีฟ’ มากขึ้น ที่สำคัญได้ช่วยกันสร้างกระแสชุมชนให้เกิดความภูมิใจ เมื่อได้รับการยอมรับแล้ว จะชักชวนสมาชิกที่สนใจมารวมหุ้นกันต่อยอดให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำการตลาด ก้าวไปสู่การยกระดับมาตรฐานโคเนื้อให้ได้มาตรฐานในระดับสากล
โดยกลุ่ม ‘กุลาบีฟ’ ตั้งเป้าเจาะตลาดระดับต่างประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในการเลี้ยงโค ทำให้เนื้อทุ่งกุลาเป็นสินค้าส่งออกได้ เชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรไทย จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น จนสามารถนำไปสู่การลดภาระหนี้สินได้
