จับตา กม.ราคาน้ำมันใหม่ ก.พลังงาน คุมภาษีสรรพสามิต

8 พ.ค. 2567 - 10:05

  • ‘พีระพันธุ์’ เร่งเขียนกฎหมายปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ เล็งดึงอำนาจ กำหนดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน กลับมาอยู่กับ ก.พลังงาน

  • ชี้ เป็นเครื่องมือช่วยลดการขาดทุนของกองทุนพลังงานฯ

  • ระบุ แต่เดิม มีทั้งเครื่องมือ เงินในกองทุนน้ำมัน และภาษีฯ คาดใช้เวลาทำกฎหมายไม่นาน

law-adjust-new-oil-price-structure-energy-oil-fund-tax-SPACEBAR-Hero.jpg

คนไทย ใช้พลังงานราคาแพง เป็นปัญหาที่รัฐบาลพยายามให้ความช่วยเหลือ ยุคสมัย ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เข้ามานั่งตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังจะมี ‘กฎหมายปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่’ ที่ขณะนี้ รัฐมนตรีฯ พีระพันธุ์ ระบุว่า ใกล้แล้วเสร็จเต็มที

การให้ข้อมูล ว่า ใกล้แล้วเสร็จนี้ รมว.พลังงาน ยังเผย จะดึงอำนาจกำหนดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลับมาอยู่กับกระทรวงพลังงาน โดยให้เหตุผลว่า เรื่องอำนาจกำหนดภาษีสรรพสามิตนี้ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วยลดการขาดทุนของกองทุนพลังงาน ได้ ชี้ด้วยว่า แต่เดิมนั้นกระทรวงฯ มีทั้งเครื่องมือ มีเงินในกองทุนน้ำมัน และภาษีฯ อย่างครบถ้วน แต่ทั้งหมดนี้กำลังเร่งเขียนกฎหมาย เพื่อให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น โดยคาดว่า จะใช้เวลาปรับปรุงกฎหมายไม่นาน

“ผมกำลังเขียนกฎหมายอยู่ และจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้ โดยคาดว่าใช้เวลาไม่นาน ตอนนี้เขียนไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว…เดิมการดูแลราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 ที่มีการตั้งกองทุนน้ำมันแต่ยังไม่ได้มีกฎหมายรองรับ เพิ่งมามีกฎหมายรองรับเมื่อปี 2562 โดยก่อนปี 2562 นั้นคำสั่งที่ใช้ในการดำเนินงานตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 ในคำสั่งนี้ให้อำนาจกองทุนน้ำมันมีอำนาจในการดูแลหรือตรึงราคาน้ำมันได้ 2 วิธี หรือ 2 ขา คือการใช้เงินในกองทุนน้ำมันฯ และ อีกส่วนหนึ่งคือการให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี”

พีระพันธุ์ กล่าว

รมว.พลังงาน ยังอธิบายถึง กองทุนน้ำมันฯ ในอดีตด้วยว่า ไม่ได้มีอำนาจในการเก็บภาษี แต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของน้ำมันแต่ละชนิด ดังนั้น เราจึงสามารถใช้เครื่องมือทั้งสองส่วนนี้ในการดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชนได้ ซึ่งเราสามารถใช้ทั้งเงินในกองทุนน้ำมัน และเพดานภาษีมาดูแลราคาน้ำมัน ซึ่งก็คือ เรามีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันแต่ละประเภท แต่คนเก็บภาษีนั้นคือกระทรวงการคลัง แต่พอออกกฎหมายในปี 2562 แล้วไปตัดอำนาจในการกำหนดภาษีของกองทุนน้ำมันฯออก เหลือแต่การใช้เงินอย่างเดียว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบ เป็นหนี้จำนวนมากตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

“การกำหนดภาษีน้ำมันฯ ซึ่งเคยเป็นอำนาจของกองทุนน้ำมันฯนั้นไม่มีแล้วตั้งแต่ปี 2562 ครั้งนี้เราก็ไปขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดเพดานภาษีน้ำมันสรรพสามิตดีเซล แต่เขาไม่เห็นด้วย แต่เดิมนั้นกระทรวงพลังงานนั้นสามารถกำหนดผ่านกองทุนฯได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรมมีการแก้ไขต่อไปเช่นกัน ซึ่งควรจะกลับมาเป็นแบบเดิม เนื่องจากสินค้าตัวนี้กระทรวงพลังงานเป็นคนดู อำนาจส่วนนี้จึงควรอยู่กับกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อกำหนดแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่กระทรวงการคลังไปเก็บภาษีในส่วนนี้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547”

พีระพันธ์ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์