นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือเอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับราชรัฐลักเซมเบิร์ก รวมถึงผลักดันการเจรจา FTA ไทย-อียูและเชงเกนฟรีวีซ่า
โดยนายสุชาติ เผย ได้รับมอบหมายจาก รมว.ภูมิธรรม เวชยชัย ให้พบหารือกับนายแพทริก เฮมเมอร์ (H.E. Mr. Patrick Hemmer) เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ณ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในการหารือนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ยังสามารถขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น
เล็งต่อยอดศักยภาพลักเซมเบิร์กให้ไทย
ทั้งนี้ ในการขยายการลงทุนในไทย นั้น พิจารณาจากการที่ ‘ลักเซมเบิร์ก’ ซึ่งเป็นประเทศที่มีจุดแข็งในการให้บริการทางด้านการเงินและการธนาคาร เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนในไทยหลายอุตสาหกรรม เช่น โลจิสติกส์ (Cargolux) ดาวเทียม (SES) เหล็ก (AcelorMittal)
ขณะที่ไทยเองก็มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานที่มีฝีมือตลอดจนมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ สามารถรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากลักเซมเบิร์กได้
นายสุชาติ เพิ่มเติมว่า เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์ก ได้แจ้งเกี่ยวกับ การเยือนไทยของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การค้าต่างประเทศ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลักเซมเบิร์ก (นายซาวีเยร์ เบตแตล) พร้อมกับคณะนักธุรกิจในช่วงปลายปีนี้ โดยในเบื้องต้นลักเซมเบิร์กสนใจร่วมมือกับไทยในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การพิมพ์ 3D อุปกรณ์เซนเซอร์รถยนต์ และนวัตกรรมการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียว ซึ่งตนได้แจ้งความพร้อมในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการขยายโอกาสทางการค้าระหว่างกัน รวมทั้งได้เชิญชวนให้นักธุรกิจลักเซมเบิร์กเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ เช่น งานแสดงสินค้านานาชาติที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยและการเจรจาธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์

ขอลักเซมเบิร์ก หนุนเจรจา ไทย-อียู
นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ลักเซมเบิร์กในฐานะประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) สนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-อียู เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว โดยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศ รวมถึงลักเซมเบิร์กด้วย รวมทั้งขอให้สนับสนุนการยกเว้นการตรวจลงตราเชงเกนสำหรับหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดา ซึ่งเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กได้แจ้งพร้อมให้การสนับสนุนในทั้งสองประเด็นดังกล่าว
ในปี 2566 ลักเซมเบิร์กเป็นคู่ค้าอันดับที่ 155 ของไทย การค้ารวมมีมูลค่า 21.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.0038 ของการค้าไทยในตลาดโลก ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 18.16 ไทยส่งออกสินค้าไปลักเซมเบิร์กมีมูลค่า 8.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนของการส่งออกของไทยไปตลาดโลกร้อยละ 0.0028 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15.64 ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากลักเซมเบิร์กมีมูลค่า 13.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนของการนำเข้าของไทยจากตลาดโลกร้อยละ 0.0047 ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 30.22 โดยไทยเสียเปรียบดุลการค้า 5.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น
1. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
2. หลอดไฟฟ้า
3. เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
4. เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว
5. สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ
6. อัญมณีและเครื่องประดับ
7. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง
8. เครื่องดื่ม
9. ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ
10. ประทีปโคมไฟ
สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น
1. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
2. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
3. เคมีภัณฑ์
4. ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก
5. เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
6. กระจก แก้ว และผลิตภัณฑ์
7. ผ้าผืน
8. เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์
9. กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ และ
10. ผลิตภัณฑ์โลหะ