นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานพิธีประกาศเจตจำนงความร่วมมือในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์ม โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วย งานนี้จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อสร้างความร่วมมือในการกำกับดูแลสินค้าที่วางขายบนแพลตฟอร์ม e-Commerce รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญและความจำเป็นของการไม่ซื้อขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะส่งเสริมการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และคุ้มครอง SME ของไทย

นายพิชัย ชี้ให้เห็นความสำคัญของการประกาศเจตจำนงในครั้งนี้ว่า จะเป็นมาตรการเสริมควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย ที่เข้มงวดของหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากความห่วงใยของนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยกับปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานตลอดจนธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศอย่างฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคจากการขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานบนแพลตฟอร์มแล้ว และสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ในการดำเนินธุรกิจ e-Commerce ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
การจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มชั้นนำที่จำหน่ายสินค้าในประเทศไทยเข้าร่วมประกาศเจตจำนง จำนวน 16 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าต่างประเทศ BIGXSHOW / eBay / Lazada / LINE SHOPPING / Nex Gen Commerce / NocNoc / Shopee /TEMU / TikTok Shop

หลังประกาศเจตจำนงฯ ครั้งนี้แล้ว หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เช่น การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงการซื้อขายสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานและถูกกฎหมายให้เข้าถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการ Online ในวงกว้าง รวมทั้งการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) ในการกำกับดูแลสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้หน่วยงานมีแนวทางการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ธุรกิจออนไลน์ในอนาคตจะโตขึ้นเรื่อยๆ เราต้องเซ็ตระบบให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกภาคส่วนจะได้ประโยชน์ และวันจันทร์นี้ (3 ก.พ.68) ผมจะเดินทางไปที่สหรัฐอเมริกา เพื่อหารือเรื่องนโยบาย Tariffs (ภาษี) ของอเมริกา เป็นเรื่องที่เราให้ความสนใจ วันนี้ผมได้หารือกับหอการค้าไทยที่มาให้ข้อมูลให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าได้โดยไม่มีอุปสรรค เชื่อว่ายังสามารถเจรจาได้ ซึ่งมีการนัดหมายกับหลายฝ่าย ทั้ง สส. วุฒิสมาชิก”
“ตอนนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยดีมาก การส่งออกปี 2567 เราโตถึง 5.4% และมีการขอส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 1.13 ล้านล้านบาท ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนที่ไหลเข้ามาจะเป็น Snowball Effect ที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าปีนี้การส่งออกไทยจะดีขึ้น แต่ที่ยังมีปัญหาคือเรื่องหนี้เก่าที่เกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำมานาน และเรื่องค่าเงินที่เริ่มแข็งค่า ต้องช่วยกันให้ประเทศเราหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ยกระดับรายได้ของคนส่วนใหญ่”
นายพิชัย กล่าว

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน่วยงานซึ่งบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้า อาทิ อย. สมอ. สคบ. และศุลกากร ที่กำกับดูแลสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศในช่วง ต.ค.-ธ.ค. 2567 สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว จำนวน 16,651 คดี มูลค่าความเสียหายรวม 984.69 ล้านบาท และจากการดำเนินงานที่เข้มงวดของคณะกรรมการฯ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจากทั่วโลกผ่าน e-Commerce (ก.ค. - ธ.ค. 2567) ลดลง 8% เหลือเฉลี่ยเดือนละ 3,645 ล้านบาท(จากเดิมก่อนมีมาตรการ ช่วง ม.ค. - มิ.ย. 2567 เฉลี่ยเดือนละ 3,957 ล้านบาท)
สินค้าไม่ได้มาตรฐาน กับความเดือดร้อนประชาชน
กล่าวได้ว่า ปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน หรือซื้อสินค้าออนไลน์ แล้วได้สินค้าไม่ตรงปก ถือเป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการ้องเรียนไปยังสภาองค์กรผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขปี 2564-2567 มีการร้องเรียน 53,777 เรื่อง เกี่ยวข้องกับภัยไซเบอร์ 80% ซึ่งในสัดส่วนนี้แยกเป็น สินค้าและบริการ หมายถึงการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ 42.03% และการบริการทางการเงิน การธนาคาร กลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวง ดูดเงิน ที่เรียกว่า คอลเซ็นเตอร์ 28.49% และเป็นการสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีประมาณ 10% ที่เหลือเป็นบริการด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม หากเจาะเฉพาะความเดือดร้อนเรื่องสินค้า ในปี 2566-2567 สภาองค์กรของผู้บริโภคก็มีตัวเลขช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2566) โดยได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 13,065 กรณี หมวดปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด คือ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 7,905 กรณี คิดเป็นร้อยละ 60.51 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด
ขณะที่ ในปีงบประมาณ 2567 ก็ไม่ได้ลดลง ตัวเลขตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 17,028 กรณี แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของการร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและบริการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ที่ยังคงเพิ่มขึ้น
คาดหวังว่า การผนึกกำลังแสดงเจตจำนงปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ครั้งนี้ จึงจะทำให้เกิดการเฝ้าระวังมากขึ้นอย่างรอบด้านและสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
