กพร.ให้ความคืบหน้า 2 เหมืองโพแทชไทย ลุยผลิตปุ๋ยปี 71

29 ม.ค. 2568 - 02:30

  • กพร.โชว์คืบ โครงการเหมืองแร่โพแทชไทย คาด 3-4 ปี จะขุดแร่ฯขึ้นมาผลิตปุ๋ยใช้ได้

  • หลัง 2 บริษัท ไทยคาลิ ที่โคราช และ เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ ที่อุดรฯ คืบเป็นระยะ

  • ชี้ หากทุกอย่างเป็นตามแผน ปี 71 ไทยจะเป็นผู้ผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม จากแหล่งแร่โพแทชในประเทศได้เป็นครั้งแรก

opdc-2-thai-potash-k-mines-fertilizer-production-2028-SPACEBAR-Hero.jpg

ความหวัง ช่วยเกษตรกรไทยทั้งประเทศใช้ปุ๋ยถูกลงร้อยละ 20 ลดการพึ่งพาการนำเข้ากว่า 1 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี เปลี่ยนไทยกลายเป็นผู้ผลิตปุ๋ยโพแทชเซียมในเอเชียแทนการนำเข้า ต่อยอดอุตสาหกรรมมูลค่าสูงจากเหมืองแร่โพแทชในอนาคต เรียกได้ว่า ฝันนี้ใกล้ความจริงเข้ามาทุกที หลังมีเป้านำแร่โพแทช ขึ้นมาผลิตปุ๋ย ในปี 2571 โดย 2 บริษัท คือ ไทยคาลิ ที่โคราช และ เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ ที่อุดรธานี

เรื่องนี้ ดร.อดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เผย จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งผลักดันโครงการทำเหมืองแร่โพแทชเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดทำโครงการทำเหมืองแร่โพแทช ขณะนี้มีความคืบหน้าและมีศักยภาพที่คาดว่าจะสามารถนำปุ๋ยโพแทสเซียมขึ้นมาได้ในช่วงระยะเวลา 3 -4 ปีนี้ โดยการดำเนินการของทั้งสองบริษัท ยังคงเป็นไปตามแผน และมีความคืบหน้าเป็นระยะ

โครงการเหมืองแร่ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบัวตะเกียด ตำบลหนองไทร และตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 มีอายุ 25 ปี ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2583 แผนการผลิต 100,000 ตันต่อปี ปริมาณการผลิตรวมตลอดอายุโครงการ 2.15 ล้านตัน 

ที่ผ่านมาได้มีการก่อสร้างอุโมงค์เข้าสู่ชั้นแร่ เป็นอุโมงค์แนวเอียงจำนวน 1 อุโมงค์ และอุโมงค์แนวดิ่งจำนวน 1 อุโมงค์ แต่ประสบปัญหาเทคนิคการป้องกันน้ำใต้ดินในอุโมงค์แนวเอียง บริษัทฯ จึงได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเพื่อก่อสร้างอุโมงค์แนวดิ่งใหม่ จำนวน 3 อุโมงค์ ซึ่งได้รับอนุญาตแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมได้ในปี 2571 สำหรับอุโมงค์ที่เกิดปัญหาน้ำรั่ว กพร. ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า เสถียรภาพภายนอกและภายในของอุโมงค์มีความมั่นคงแข็งแรง ปัจจุบันไม่พบการรั่วซึมหรือรั่วไหลของน้ำบริเวณผนังอุโมงค์

ขณะที่อีกโครงการ คือ โครงการเหมืองแร่ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองไผ่ ตำบลโนนสูง และตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี ตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 มีอายุ 25 ปี ถึงวันที่ 22 กันยายน 2590 แผนการผลิต 2,000,000 ตันต่อปี ปริมาณการผลิตรวมตลอดอายุโครงการ 33.67 ล้านตัน โดยบริษัทฯ ได้แจ้งเตรียมการเพื่อทำเหมืองตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2566 และจะขนเครื่องจักรเข้าดำเนินการก่อสร้าง เช่น กำแพงรั้วกั้นแนวเขตโครงการประมาณ 1,600 ไร่ และก่อสร้างโรงแต่งแร่ ตามแผนที่เสนอภายใน 3 ปี คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมได้ในปี 2571

หากการดำเนินงานของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด และบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน ปี 2571 ไทยจะสามารถผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมจากแหล่งแร่โพแทชในประเทศได้เป็นครั้งแรก ผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรง คือ เกษตรกรไทยทั้งประเทศที่จะได้ใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมถูกลงร้อยละ 20 ยังมีค่าภาคหลวงแร่ที่ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีกองทุนต่าง ๆ เงินค่าทดแทนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ณ วันที่ได้รับอนุญาตประทานบัตร ซึ่งบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

“เราทราบดีว่าเหมืองแร่โพแทชเป็นความหวังของเกษตรกรไทย ที่ผ่านมา กพร. ได้กำกับดูแลโครงการเหมืองแร่โพแทช ซึ่งเป็นการทำเหมืองใต้ดินให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎ ระเบียบ เงื่อนไขและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและตรวจสอบการทำเหมืองร่วมกับหน่วยงานภาครัฐด้วย”

“นอกจากมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว กพร. ได้มีนโยบายให้ผู้ถือประทานบัตรจัดทำข้อมูลฐานเปรียบเทียบ (Baseline data) สำหรับใช้ในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำเหมือง เพื่อใช้ในการตรวจสอบและกำกับดูแล รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการชี้แจงต่อสังคมได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญโครงการเหมืองแร่โพแทชจะต้องจัดทำการประกันภัยเพื่อเป็นหลักประกันหากเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินจากการทำเหมืองในเขตพื้นที่ประทานบัตร”

“พร้อมทั้งต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสียหายความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการเยียวยาให้กับผู้มีส่วนได้เสียทันที เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่คู่กับสังคม ชุมชน อย่างเป็นมิตร ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ต่อไป”

ดร.อดิทัต กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์