พลังงาน ปัดตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ 50% ยันแค่ 25.5%

27 ธ.ค. 2567 - 07:20

  • กระทรวงพลังงาน เผย กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ อยู่ที่ 25.5% ไม่ใช่ 50% ตามที่มีการเผยแพร่

  • เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล ผลิตไฟฟ้าไม่ตลอดเวลานำมารวมเต็มกำลังการผลิตไม่ได้

  • ระบุ แม้ช่วงโควิด กำลังผลิตไฟฟ้าอาจอยู่ในระดับสูง แต่ปัจจุบันมีการบริหารจัดการในระดับเหมาะสมแล้ว

moe-backup-power-generation-reserve-margin-25-point5-percent-SPACEBAR-Hero.jpg

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าว เกี่ยวกับกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยว่าอยู่ในระดับสูงถึง 50% โดยชี้แจงว่า ไม่ใช่ความจริง เพราะปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น โดยการคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มพลังงานที่ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ช่วงเวลา ฤดูกาล ที่จะทำให้การผลิตไฟฟ้าได้ไม่คงที่ จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้

ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะสูงซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด จึงทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่มีความสอดคล้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่ในปัจจุบันหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจึงไม่ได้สูงถึง 50% ตามที่มีการเผยแพร่

ด้าน  Peak Demand หรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบทั้ง 3 การไฟฟ้า ในปีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. อยู่ที่ 36,792 เมกะวัตต์ ในระยะหลังการเกิด Peak จะเป็นช่วงกลางคืนซึ่งต่างจากในอดีต แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเปลี่ยนไป ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาประมาณ 46,191 เมกะวัตต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงนั้นเพียง 25.5% เท่านั้น

“กระทรวงพลังงาน ขอยืนยันว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ไม่ใช่ 50% ตามที่มีการเผยแพร่ กำลังการผลิตไฟฟ้านั้น ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน จะสามารถนำมาคำนวณกำลังการผลิตได้ 100% แต่หากเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ในวันที่มีแสงแดดปกติจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้แค่ 4-6 ชั่วโมงต่อวันโดยประมาณ ส่วนพลังงานลม พลังงานชีวมวล ก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ซึ่งได้มีการศึกษาและพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงนโยบายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ดังนั้น แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องพิจารณาให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งต้องพิจารณาถึงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

“การคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้า ต้องคำนวณตามชนิดเชื้อเพลิงและศักยภาพของโรงไฟฟ้าแต่ละโรงที่แท้จริงจึงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และที่สำคัญที่สุด แผนการผลิตไฟฟ้านั้น กระทรวงพลังงานได้วางแผนเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมไปพร้อมกับการใช้พลังงานสะอาดที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกในปัจจุบัน นอกจากนั้น ก็ได้เตรียมพร้อมรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้าจาก Data Center ที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในปริมาณที่สูงซึ่งจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศอีกด้วย”

นายวีรพัฒน์ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์