จับตามาตรการอสังหาฯ คลังชงเข้า ครม. 9 เม.ย.มีลุ้น?

8 เมษายน 2567 - 11:50

mof-property-real-estate-sector-cabinet-approves-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อสังหาฯ ยิ้มรอ หลัง ครม. 9 เมษา คลังเตรียมชงมาตรการช่วย

  • จับตามาตรการช่วยที่กำลังพิจารณา มีอะไรบ้าง?

  • ช่วยคลุมทั้งภาคอสังหาฯ และประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

ภาคอสังหา ที่ซบเซามานาน ถึงเวลากระตุ้น จับตา การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 เมษายน 2567 ซึ่งกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และเตรียมการเพื่อรองรับการยกระดับประเทศสู่ศูนย์กลางเมืองอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision)

โดยปรับปรุงมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม และมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยของตัวเองรวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ปรับปรุงมาตรการ ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2567 ด้วยการขยายเพดานมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ได้รับสิทธิลดค่าธรรมเนียม 

ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทยและผู้ขายที่ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ในราคาซื้อขายและค่าประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท จากเดิมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีการลดค่าจดทะเบียนการโอน จากปกติ 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนองจากปกติ 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้

1. อาคารที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว 
2. ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ที่เหลือขายสะสมอยู่ในตลาดที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46% ของที่อยู่อาศัยเหลือขายในตลาด ส่วนที่ราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 86% และช่วง 9 เดือนแรกปี 66 ที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่ถึง 3 ล้านบาท มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 41.4% ส่วนที่อยู่อาศัยมือหนึ่งที่ราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คิดเป็นสัดส่วน 61.4% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งหมด สรุปรวมความแล้ว มาตรการนี้ จะช่วยสนับสนุนการซื้อขายที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์