ท่ามกลางภาวะที่ คนไทย ‘มีหนี้’ เพิ่มขึ้นมหาศาล พาให้นึกถึงห้วงเวลาที่ทีมข่าว SPACEBAR ได้สนทนาธรรมกับ พระครูสุวรรณ โพธิวรธรรม หรือพระอาจารย์มนัส ขันติธัมโม พระนักพัฒนาแห่งวัดโพธิ์ทอง ตำบลแสลง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี บุคคลสำคัญของชาวจังหวัดจันทบุรี และของประเทศ ได้รับยกย่องในฐานะผู้ทำประโยชน์มากมายให้สังคม แต่ ณ ที่นี้ จะขอกล่าวถึงท่าน ในบทบาท ‘การช่วยคนพ้นบ่วงหนี้ มีกินมีใช้’ แม้แค่ จันทบุรี จังหวัดเดียวก็ตาม นี่แหละ ปูชนียบุคคลช่วยแก้หนี้ให้ชาวรากหญ้า ที่ประสบความสำเร็จ ปรับประยุกต์ใช้พระพุทธศาสนา พาคนรู้จักออม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ให้ชาวบ้านได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
วิธีการของพระอาจารย์ ก็ไม่ยาก เพียงแค่ “ย้ายเงินจากกระเป๋าคนมีเงิน มาให้คนมีหนี้ เอาไปใช้ประโยชน์” ด้วยจุดเชื่อม จากการก่อตั้ง ‘กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์’ เพื่อการออม-แก้หนี้ ต่อยอดทำมาหากิน สร้างทำนบไม่ให้เงินไหลออก แถมยังดึงหนี้ชาวบ้านจากภายนอกมาเข้าระบบสถาบันการเงินชุมชน โดยที่ไม่ได้มีกฎกติกาอะไรมาก แค่โบราณอุบาย กับหน้าที่ความรับผิดชอบสังคม ใครไม่คืนหนี้จะถูกจัดการด้วย ‘เวรกรรมแห่งการเบี้ยวหนี้’ ซึ่งจะได้ยินในทุกวันพระที่มีงานบุญ ในวัด!!! ส่วนเมื่อถามท่านถึงแรงบันดาลใจในการทำงานด้านนี้ ท่านตอบว่า
“อาตมาเป็นพระ ที่อดรนทนเห็นชาวบ้าน ขี้เมา ไม่เข้าวัด ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนเงินกู้ดอกเบี้ยโหด ไม่ไหว แม้แต่ธนาคารก็รับซื้อเงินเราร้อยละ 1 แต่พอเราไปกู้ คิดดอกเบี้ยเราร้อยละ 10-15 บาท/ปี เมื่อไหร่ชาวบ้านก็เสียเปรียบ เลยต้องทำให้เห็นประโยชน์การออมเงิน คนมีก็เอามาออม สิบบาทยี่สิบบาทร้อยบาท เพื่อคนลำบากกู้ไปใช้ ถึงเวลาคืนก็จะมีค่าบำรุง (ธนาคารเรียกดอกเบี้ย) ก็จะมาเป็นเงินหมุนเวียน เป็นสวัสดิการชาวบ้าน ...นี่คือ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ที่ก่อตั้งขึ้นจนถึงทุกวันนี้ รวมเวลาประมาณ 28 ปีเศษๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียน 4,000 ล้านบาทแล้ว อาตมาจึงต่อยอดสร้างสวัสดิการให้ชาวบ้าน เจ็บ ตาย พิการ ชราภาพ ไร้กังวล...”
นี่แหละ การเงินในระดับชาวบ้าน ที่ใครๆ ก็ทำได้ แบบไม่ต้องรอภาครัฐ หรือหน่วยงานใดมาช่วย เพราะยิ่งเป็นการจัดการขนาดใหญ่ ยิ่งต้องมีความล่าช้าจากที่ต้องใช้ความรอบคอบรัดกุม แต่ในระดับชาวบ้านลดขั้นตอนได้เยอะ ผลดีคือ ‘ทำได้ทันที’ ปัญหาถูกแก้ตรงจุด เรียกได้ว่า จากเงินกองทุนที่ริเริ่มจากคน 108 คน เมื่อปี 2539 ได้เงิน 6,810 บาท เปิดให้หยิบยืมครั้งแรก เกลี้ยงไม่เหลือ มาบัดนี้ มี 4,000 ล้านบาท หมุนเวียนแก้หนี้ก้อนน้อยใหญ่ให้สมาชิก ซึ่งก็มีสมาชิกมาหยิบยืมต่อเนื่อง ตั้งแต่ หลักหมื่นกระทั่งหลักล้าน แล้วแต่วัตถุประสงค์ที่ต้องการ
อะไรบ้าง? ที่เรียกว่า สัจจะสะสมทรัพย์
แน่นอนว่า สมาชิกเมื่อเข้า ‘กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์’ ทุกคนต้อง ‘กล่าวคำปฏิญาณตน’ ว่า ใครโกงเงินกลุ่ม ขอให้ “เป็นบ้า และถึงซึ่งความฉิบหาย...” ก็ว่าไปตามภาษาท้องถิ่น แล้วในชุมชนยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงพ่อ หลวงปู่เก่าแก่ ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ “ผิดสัจจะเมื่อไหร่ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ปกปักรักษา...” อีกประการสำคัญ คือ การประกาศ ‘ตัดสวัสดิการที่มีทั้งหมด’ เช่นใครก็ตาม ในบ้านแม้มี 5 คน เป็นสมาชิกทั้งหมด ผิดกฎไม่ใช้หนี้เพียงคนเดียว จะถูกตัดสวัสดิการทั้งบ้าน ... นี่จึงทำให้ชาวบ้านทุกคนเกรงกลัว และอยู่ในกรอบของคุณงามความดีได้
“สมาชิกเรา ก็ไม่ใช่คนดีหมดทุกคนหรอกเน้อะ แต่เราใช้ระบบว่า ทำอย่างไรจะให้คนดี ดูแลคนไม่ดีให้อยู่ในกรอบของคุณงามความดีได้ เหมือนที่ในหลวง ร.9 ตรัสไว้ คนดีดูแลคนไม่ดี อยู่ในกรอบของคุณงามความดีได้...โดยมีเงินเป็นเครื่องมือ”
พระอาจารย์มนัส กล่าว
ย้อนดูวัตถุประสงค์แรกก่อตั้ง กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
พระอาจารย์มนัส ยังชี้ถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และผลสัมฤทธิ์กับชาวบ้าน ด้วยว่า หลังกองทุนใหญ่โตขึ้น จำนวนสมาชิก ก็ขยายใหญ่ขึ้น จาก 108 คนในวันแรก ขยายถึง 110,000 คนในปัจจุบัน อันเกิดจากความเชื่อมั่นเชื่อถือที่มีมากขึ้น ทุกหมู่บ้านขณะนี้สมัครเป็นสมาชิกเกือบ 100% แล้ว โดยความคาดหวัง 5 ด้านเมื่อแรกตั้ง คือ
1. การ ได้ออม ทำอย่างไรหลายคนในชนบท ได้ออม อย่างน้อยเดือนละ 100 ตอนนี้สมาชิกมีทั้งสิ้น 110,000 คน ขณะนี้ออมคนละ 100 หมดทุกคน
2. คือ ได้ยืมไปใช้ เมื่อยามเดือดร้อน
3. คือ ได้กำไร เอามาจัดเป็นสวัสดิการ ช่วยคนเจ็บ ช่วยคนป่วย คนตาย คนพิการ คนในชุมชน แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นสมาชิก
4. คือ ได้สามัคคีกันในชุมชน
5. คือ ได้มาวัด อย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง
พระอาจารย์มนัส ยังเล่าถึง การใช้เงินกองทุนช่วยสมาชิก ว่า เราช่วยเหลือสมาชิกปีละประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี คนเจ็บ คนป่วย คนตาย เด็กๆ มอบทุนการศึกษา คนแก่ ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ สมาชิกได้รับการดูแลทั้งหมด และสมาชิกนี้ก็ต้องทำตามกฎ คือต้องเป็นผู้ออม อย่างน้อยเดือนละ 100 บาท ต้องประวัติดี ออมไม่เคยขาด ยืมเงินแล้วส่งคืนตามปกติทั้งครอบครัว โดยทุกคนต้องอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์เดียวกันนี้ เท่านั้น
แค่ ‘แก้หนี้’ ไม่พอ ยัง ‘ซื้อหนี้’ มาจัดการให้ชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะการหยิบยืมเงินไปใช้ปกติเท่านั้น แต่สมาชิกคนใดก็ตาม ที่มีหนี้ธนาคาร หรือหนี้นอกระบบ กองทุนนี้ก็พร้อมปลดหนี้ให้ หากได้รับการบอกกล่าวขอความช่วยเหลือ โดยคณะกรรมการจะนำเงินกองทุน ไปซื้อหนี้ของสมาชิกมาบริหารจัดการภายใน สมาชิกเจ้าของหนี้ดังกล่าวก็ต้องมารับผิดชอบหนี้ก้อนนี้ภายใน แต่จะไม่เป็นหนี้ภายนอก มีค่าใช้จ่ายคือ เงินที่หยิบยืมไป กับ ‘ค่าบำรุง’ (ดอกเบี้ย) ร้อยละ 1 ซึ่งไม่เป็นภาระกับใครทั้งสิ้น ทำให้ชาวบ้านสามารถลืมตาอ้าปากได้ง่าย แถมกองทุนยังได้ค่าบำรุงกลับมาเป็นสวัสดิการของทุกคนอีกด้วย นี่แหละตัวอย่างพระนักพัฒนา กับการจัดการเรื่องการเงินให้ชาวบ้าน อย่างสัมฤทธิ์ผล โดยพระท่านย้ำ ผลกำไรที่เกิดขึ้นมานั้น 100% ก็จะเป็นของชุมชนทั้งหมด แตกต่างกับสถาบันการเงินภายนอก อย่างสิ้นเชิง
“ลักษณะนี้ ผลกำไรที่เกิดขึ้นมานั้น 100% ก็จะเป็นของชุมชนทั้งหมด เช่น ทางกลุ่ม มีกำไรเกิดขึ้นปีละประมาณ 5 ล้านบาท เงินนี้ก็ไม่ออกไปนอกหมู่บ้านแม้แต่บาทเดียว เราจึงเรียกเป็นค่าบำรุง ไม่ใช่ดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ย คือ เงินที่เสียไปแล้ว สูญสิ้นไปเป็นของคนอื่น เช่น สถาบันการเงินทั่วไปก็ดี นายทุนก็ดี เป็นต้น จ่ายแล้วหายวับ ไม่กลับเข้ามาหาเราอีกเลย แม้แต่บาทเดียว แต่ของเราเองอยู่ในชุมชน ไม่ออกนอกหมู่บ้านแม้แต่บาทเดียว ตรงนี้คือความแตกต่างของกลุ่มที่เราทำงานกันอยู่ กับสถาบันการเงินภายนอก”
พระอาจารย์ มนัส กล่าวทิ้งท้าย
หลังการช่วยเหลือประชาชน สร้างความมั่นคงกับกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ชาวจันทบุรีระดับหนึ่งแล้ว ท่านยังขยายความช่วยเหลือไปยัง ‘พระสงฆ์’ ด้วยวัตถุประสงค์ช่วยพระทั่วประเทศ สร้างสวัสดิการที่คล้ายกัน เพื่อเป็นการดูแลอย่างทั่วถึงต่อไป