กสทช. เตือน ลงทุนตู้เติมเงิน K4 อาจเข้าข่ายธุรกิจเครือข่าย

19 ธ.ค. 2567 - 06:31

  • กสทช. เตือนประชาชนลงทุนตู้เติมเงิน K4 อาจเข้าข่ายลักษณะธุรกิจเครือข่าย

  • แจงเคโฟร์ฯ ได้รับอนุญาตให้บริการ NVNO จริง

  • แต่ธุรกิจตู้เติมเงิน กสทช. ไม่ได้ให้ใบอนุญาต

nbtc-reminder-invest-k4-top-up-machines-network-business-SPACEBAR-Hero.jpg

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช ) แถลงว่า กรณีมีการ้องเรียน บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (บริษัท เคโฟร์ฯ) ที่มีประชาชนโทรศัพท์ สอบถามมาที่สำนักงานฯ กสทช. ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 เกี่ยวกับการลงทุนตู้เติมเงินที่ใช้ชื่อ ‘เครี่ปั่นสุข’ ที่ให้ผลตอบแทนสูง 

บริษัทมีการตั้งกลุ่มไลน์โฆษณาชักชวนให้ลงทุน และแจ้งกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน จึงมีประชาชนบางรายโทรศัพท์เข้ามาสอบว่าจริงหรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงควบคู่ไปกับการออกข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ในเดือน ก.ค. 2567 พร้อมทั้งมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมสอบคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และได้ให้บริษัท เคโฟร์ฯ เข้าชี้แจง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงตลอดปี 2567

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ขอชี้แจงว่าธุรกิจของ K4 ที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตจาก กสทช. มีเพียงอย่างเดียว คือ ธุรกิจชิมการ์ด K4 โดยบริษัท เคโฟร์ฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 เพื่อให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือบริการ MVNO แต่ธุรกิจอื่นของ บริษัท เคโฟร์ฯ เช่น ธุรกิจตู้เติมเงินชื่อ ‘เครี่ปั่นสุข’ และบริการเติมเงินค่าโทรศัพท์ค่าย K4 ธุรกิจในส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. และไม่มีเรื่องการให้ใบอนุญาต เพราะตู้เติมเงินไม่เข้าข่ายเป็นกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

“เรากำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ได้กำกับดูแลตู้เติมเงินแม้จะมีการแถมซิมการ์ดให้แต่เราก็ไม่เคยเห็นตู้ของเขาเลยว่ามีจริงหรือไม่ บริษัทฯได้รับใบอนุญาตจากกสทช.ในการให้บริการสื่อสาร NVNO จริง แต่ไม่ใช่การให้บริการตู้เติมเงิน เราดูแลเรื่องซิมถ้าบริษัทเอาซิมไปให้บริการผิดกฎหมายเราสามารถเอาผิดเขาได้ ส่วนเรื่องตู้เติมเงินเราไม่ได้นิ่งนอนใจแบะพยายามช่วยหาทางออก”

nbtc-reminder-invest-k4-top-up-machines-network-business-SPACEBAR-Photo01.jpg

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้มีการตรวจสอบข้อมูลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัทเคโฟร์ฯ ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายจากผู้ให้บริการโครงข่ายพบว่า ปัจจุบันบริษัท เคโฟร์ฯ ได้รับจัดสรรประมาณ 331,000 เลขหมาย โดยช่วง 3 เดือนหลัง ได้แก่ 

- เดือน ก.ย. 2567 มีเลขหมายที่ใช้งานจริงประมาณ 33,000 เลขหมาย มียอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,286,000 บาท 
- เดือน ต.ค. 2567 มีเลขหมายใช้งานจริงประมาณ 42,000 เลขหมายยอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,020,000 บาท และ
- เดือน พ.ย. 2567 ใช้งานจริงประมาณ 46,000 เลขหมาย ยอดการเติมเงินออนไลน์ 1,742,000 บาท
ซึ่งหากนำยอดการใช้จ่ายจริงในเดือน พ.ย. มาคำนวณจะพบว่ามีการเติมเงินเฉลี่ยเพียงเลขหมายละ 38 บาท ประกอบกับในปี 2566 บริษัท เคโฟร์ฯ ได้ชำระค่าธรรมเนียมจากการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กับสำนักงานกสทช. เพียง 7,000 บาท ซึ่งคำนวณจากรายได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมประมาณ 5 ล้านบาท 

กสทช. จึงมีข้อสังเกตว่าการประกอบกิจการโทรคมนาคม ระหว่างปี 2566-2567 บริษัท เคโฟร์ฯ มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทอย่างต่อเนื่องเป็นเงินจำนวนมาก จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 5 ล้านบาทในปี 2565 เพิ่มทุนจดทะเบียนในปี 2567 เป็น 500 ล้านบาทการเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวมีพื้นฐานรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. หรือเป็นการประกอบธุรกิจประเภทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตของ กสทช. ซึ่งหากมีการประกอบธุรกิจประเภทอื่นจะต้อง พิจารณาต่อไปว่าการประกอบธุรกิจดังกล่าวนั้นมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายจูงใจให้ผู้ใช้บริการของตนโดยมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการอันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคม อันเป็นข้อห้ามตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตคมนาคมข้อ 12.17 และประกาศ กสทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ข้อ 16 ด้วยหรือไม่

จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบศูนย์บริการของ K4 ของสำนักงาน กสทช. ภาค และสำนักงาน กสทช. เขต พบว่า ศูนย์บริการบางแห่งมีการปิดล็อกประตูเข้าออก บางแห่งพบว่ามีตู้เติมเงิน แต่มีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน บางแห่งไม่พบ ตู้เติมเงินแต่อย่างใด และเมื่อโทรสอบถามได้รับแจ้งจากผู้ดูแลศูนย์บริการว่ายังคงเปิดให้บริการ และมีการขายซิมการ์ดอยู่

สำนักงาน กสทช. ขอฝากประชาชนพิจารณาการลงทุนหากมีการชักชวนลงทุนที่เกี่ยวกับตู้เติมเงิน และได้รับผลตอบแทนสูง ในลักษณะธุรกิจเครือข่าย ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในอนาคตได้ และหากพบว่าบริษัทมีการกล่าว อ้างถึงใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการชักชวนประชาชนลงทุนตู้เติมเงินหากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการกระทำดังกล่าวและเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ จะถือเป็นการฝ่าฝืน ข้อบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงานกสทช. จะติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไป

“ตั้งแต่เราได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคอลเซนเตอร์ 1200 สายงานกิจการโทรมนาคม ทั้งสำนักรับเรื่องร้องเรียน และใบอนุญาต และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ทำงานกันแข็งขัน เราไม่ได้เพิกเฉย หรือนิ่งนอนใจ เพราะมีประชาชนโทรมาสอบถามว่าจริงหรือเปล่าที่ K4ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เพราะมีโฆษณาชักชวนลงทุนตู้เติมเงิน ซึ่งธุรกิจนี้ไม่ได้ใบอนุญาตจากเรา เจ้าหน้าที่ก็อธิบายอย่างไรก็ตาม เราก็ยื่นเรื่องต่อดีเอสไอ สคบ. ปปง. ธปท. เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น และอยากให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องว่าใบอนุญาตที่ กสทช. ให้ไม่ได้เกี่ยวกับการชวนลงทุนตู้เติมเงิน หรือเอาธุรกิจสื่อสารไปทำธุรกิจลักษณะเครือข่ายได้”

นายไตรรัตน์ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์