วงการกาแฟ ต้องจับตาแบรนด์ใหญ่ ‘เนสกาแฟ’ ในประเทศไทย ที่ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาทางกฎหมาย จากกรณีพิพาททางธุรกิจระหว่าง ‘เนสท์เล่’ (ไทย) และ QCP (ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส) ของตระกูล ‘มหากิจศิริ’ ซึ่งมี ‘ประยุทธ มหากิจศิริ’ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น ภายใต้สัญญาการร่วมทุนระหว่างกันมายาวนาน แต่แล้ว เนสท์เล่แจ้ง ‘ยุติสัญญาว่าจ้างการผลิต กับ QCP ซึ่งเป็น สัญญาที่ให้ QCP ทำหน้าที่ผลิตสินค้า ภายใต้แบรนด์ ‘เนสกาแฟ’ ให้กับเนสท์เล่ในประเทศไทย
ประเด็นนี้ก็ทำให้ QCP ยื่นฟ้องร้องต่อศาลฯ เพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว นำไปสู่คั่งศาล ห้ามเนสท์เล่ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์เนสกาแฟในประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์นี้จะลงเอยอย่างไร ผลกระทบในระบบห่วงโซ่การผลิต-จำหน่ายอย่างไร โดยเรื่องที่ถึงศาล ณ ขณะนี้ ก็ทำให้ต่างฝ่ายต่างงัดข้อมูลเรื่อง ‘สิทธิ’ ที่ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการผลิต หรือสิทธิทางการค้าก็ตาม
การเกิดขึ้นของ ‘เนสกาแฟ ประเทศไทย’
ย้อนดูกาแฟไทย ภายใต้แบรนด์ เนสกาแฟ ในประเทศไทย เกิดขึ้นนานเกือบ 40 ปีมาแล้ว โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 และเริ่มชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงต้น ปี พ.ศ. 2530 หรือประมาณ ค.ศ. 1987 เป็นต้นมา โดยเนสท์เล่ (ไทย) หรือคือ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เริ่มผลักดันนโยบาย ‘ใช้เมล็ดกาแฟไทย’ เป็นวัตถุดิบในการผลิต เนสกาแฟ ในประเทศ พร้อมกับจัดตั้ง โรงงาน QCP ที่เป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง เนสท์เล่ และกลุ่ม PM Group (มหากิจศิริ) เพื่อผลิตเนสกาแฟในไทย
ตลอดทศวรรษ 1990 – 2020 QCP เป็นฐานการผลิตเนสกาแฟหลักในไทย โดยใช้กาแฟจากเกษตรกรไทยกว่า 20,000 ราย และส่งออกบางส่วนไปต่างประเทศ และแล้วต่อมา เนสท์เล่ ก็แจ้งยุติสัญญากับ QCP ในปี 2564 (2021) และเริ่มแผนผลิตเอง! นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของข้อพิพาททางกฎหมาย กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว (2567) ศาลไทย (ศาลแพ่งมีนบุรี) มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามเนสท์เล่ผลิต/จำหน่ายเนสกาแฟในไทย (จนกว่าคดีจะจบ)
เนสท์เล่ เตรียมยื่นคัดค้าน
ซึ่งนี่ก็ทำให้ฟากฝั่งของ เนสท์เล่ (ไทย) ออกมาระบุ เนสท์เล่ ก็กำลังดำเนินการยื่นคัดค้านฯ ต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรี ต่อไป
งัดข้อมูล เนสท์เล่
เนสท์เล่ ชี้ เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์ ‘เนสกาแฟ’ แต่เพียงผู้เดียว โดยตั้งแต่ปี 2533 จนถึง 2567 ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ ได้ผลิตในประเทศไทยผ่านบริษัท QCP ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนแบบ 50/50 ระหว่างเนสท์เล่และตระกูลมหากิจศิริ
ทั้งนี้ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท แบ่งเป็น 50 ล้านหุ้น โดยมีผู้ถือหุ้นและสัดส่วนการถือหุ้นดังนี้
- นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ถือหุ้น 41.80% จำนวน 20.9 ล้านหุ้น
- เนสท์เล่ เอส.เอ. (Nestlé S.A.) สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ ถือหุ้น 30.00% จำนวน 15 ล้านหุ้น
- วิโทรปา เอส.เอ. (Vithropa S.A.) สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ ถือหุ้น 19.00% จำนวน 9.5 ล้านหุ้น
- นางสุวิมล มหากิจศิริ ถือหุ้น 5.00% จำนวน 2.5 ล้านหุ้น
- นายประยุทธ มหากิจศิริ ถือหุ้น 3.20% จำนวน 1.6 ล้านหุ้น
- บริษัท เนสท์เล่ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 1.00% จำนวน 0.5 ล้านหุ้น
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ (นายเฉลิมชัย, นางสุวิมล, นายประยุทธ) ถือหุ้นรวมกัน 50.00% ในขณะที่ฝ่ายเนสท์เล่และบริษัทในเครือ (เนสท์เล่ เอส.เอ., วิโทรปา เอส.เอ., เนสท์เล่ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด) ถือหุ้นรวมกัน 50.00% เช่นกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น เนสท์เล่ ก็ย้ำว่า เนสท์เล่ มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเนสกาแฟนั้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่
ภายหลังการยุติสัญญา ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ดังนั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 เนสท์เล่ เอส เอ (บริษัทแม่ของเนสท์เล่ทั่วโลก) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ซึ่งกระบวนการพิจารณาคำร้องเพื่อขอเลิกบริษัทอยู่ในการพิจารณาของศาล ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาของการยุติสัญญาจนถึงการยื่นขอยกเลิกบริษัท เนสท์เล่ ได้ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ให้ได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ปี พ.ศ. 2568 เฉลิมชัย มหากิจศิริ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ จำนวน 2 คดี และต่อมาศาลแพ่งมีนบุรีได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในแต่ละคดี
โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย โดยที่เนสท์เล่ยังไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว แต่เนสท์เล่ก็ให้ความเคารพต่อกฎหมายและได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฉบับนี้
โดยเนสท์เล่ได้ออกหนังสือแจ้งลูกค้า อันได้แก่ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ให้รับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแจ้งว่าบริษัทฯ จะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากร้านค้าเหล่านี้ได้ โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง ในช่วงเวลาระหว่างนี้ ร้านค้าปลีกที่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอยู่ในร้าน ยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ
เนสท์เล่ มีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นจากคำสั่งศาลนี้ ซึ่งจะส่งผลในการสูญเสียรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งร้านกาแฟขนาดเล็ก รถเข็นขายกาแฟที่จะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจำหน่ายและการปรับเปลี่ยนสูตรการชงและวัตถุดิบที่ใช้ ยังอาจส่งผลต่อรสชาติที่เปลี่ยนไป
ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ประจำวันของผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ อีกทั้งยังส่งผลต่อการขาดรายได้ของพนักงานของลูกค้าและคู่ค้าซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่ของเนสกาแฟที่เคยสามารถจัดส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ให้กับเนสกาแฟแต่ต้องหยุดชะงักลง
รวมไปถึงเกษตรกรไทยผู้เพาะปลูกกาแฟและเกษตรกรโคนมไทย จะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นวัตดุดิบให้เนสกาแฟ เนื่องจากคำสั่งศาลห้ามผลิต และว่าจ้างผลิต เนสกาแฟในประเทศไทย
ทั้งนี้ ในทุกๆ ปี เนสกาแฟรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบพันธุ์โรบัสต้าในปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกได้ประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทยและผู้บริโภคในตลาดส่งออกของเนสกาแฟจะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟดื่ม
เนสท์เล่ จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขสถานการณ์นี้ และกำลังดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้อง
ทั้งนี้ เนสท์เล่ มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างยั่งยืน เนสท์เล่จำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทยมานานกว่า 130 ปีแล้ว และได้ลงทุนกว่า 22,800 ล้านบาทในประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2567 โดยเนสท์เล่ยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง