จากสถานการณ์ผลปาล์มน้ำมันราคาตกต่ำตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน มาจนถึงขณะนี้ พฤษภาคม 2568 ผลผลิตปาล์มยังออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มใน จ.ตรัง ทั้ง 4 แห่ง ไม่สามารถสกัดน้ำมันได้ทันต่อผลผลิตที่ล้นโรงงาน ซึ่งทั้ง 4 โรงงานรองรับการผลิตได้ 5,000 ตัน เดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันราคารับซื้อยังคงตกลงมาก เนื่องจากปีนี้เกษตรกรมีผลผลิตปาล์มออกมามากถึงหนึ่งเท่าตัว
ราคาปาล์มก่อนหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ อยู่ที่กิโลกรัม 6-7 บาท หลังสงกรานต์ผลผลิตปาล์มทยอยออกมามาก ราคารับซื้อปาล์มก็ร่วงเหลือ 4 บาทกว่าๆ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร โดยอธิบดีกรมการค้าภายในร้องขอให้โรงงานรับซื้อปาล์มดิบจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 5 บาท ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ขณะที่ภาครัฐได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดย พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามการรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันที่โรงงานสกัดต่างๆ ใน จ.ตรัง ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วยโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) , โรงงานสกัด บริษัทพิทักษ์ปาล์มออยส์ จำกัด , โรงสกัด บริษัทตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด และโรงงานสกัด บริษัท เอส.พี.ไอ.อะโกร จำกัด หลังกรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้โรงงานรับซื้อผลผลิตในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท ที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% เป็นเวลา 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย. 68) นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมเป็นต้นไป หรือต้องสูงขึ้นให้สอดคล้องกับอัตราสกัดน้ำมันปาล์ม โดยจะมีการทบทวนทุกๆ 7-10 วัน


สุพจน์ เพ็งจันทร์ ผู้จัดการบริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางโรงงานพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ต้องร่วมมือกันทำปาล์มคุณภาพ เพื่อให้ทางโรงงานได้เพิ่มเปอร์เซ็นต์การสกัด และกรมการค้าภายในจะต้องประเมินทุกๆ 7-10 วัน เพราะต้องดูปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์ตลาดน้ำมันปาล์มดิบ ( CPO) จะต้องดูภาวะตลาดโลก และต้องเน้นให้เกษตรกรและทีมตัดปาล์มสุก เพื่อขายลานเทและโรงงาน เพื่อชะลอราคา ต้องแข่งขันกับตลาดโลกด้วย เชื่อว่าหากทุกโรงงานมีเปอร์เซ็นต์สกัดที่ 18% ขึ้นไป ก็พร้อมจะตอบแทนด้านราคาจะต้องดีขึ้นแน่นอน
ส่วนราคารับซื้อของโรงงานล่ำสูง เนื่องจากทางโรงงานให้ความสำคัญกับคุณภาพผลผลิต ต้องแข่งขันกับตลาดโลกด้วย จึงแบ่งราคารับซื้อออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มเกษตรกรทั่วไป หากตัดมาพร้อมกับเก็บเมล็ดปาล์มร่วงมาด้วย เท่ากับเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 5 บาท
2.ส่วนเกษตรกรที่มาจากแปลง RSPO จะได้ราคากิโลกรัมละ 5.00 -5.30 บาท
3.ส่วนผลผลิตจากลานเท ยังต้องปรับปรุงเรื่องคุณภาพที่รับซื้อจากเกษตรกรและทีมตัด ต้องสุกจริง ที่ผ่านมายังไม่ได้คุณภาพ เช่น ยังมีผลไม่สุกจัดปนมาด้วย มีการฉีดน้ำ ทำให้ทางโรงงานต้องรับซื้อจากลานเทอีกราคาหนึ่ง ซึ่งไม่ถึง 5 บาท

ด้าน วีระยุทธ วิโรจน์วรรณากุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พิทักษ์ปาล์มออย์ จำกัด เปิดเผยว่า ผลผลิตปาล์มที่เข้ามาค้างอยู่ในลาน 3 วันจึงจะถึงคิวผลิต เกษตรกรที่บรรทุกรถกระบะจะเข้ามาขายเองวันละ 400 ตัน อย่างกองสต๊อกที่เห็น 800 ตัน 2-3 วัน
“ที่ผ่านมาทำความเข้าใจกับเกษตรกรเรื่องคุณภาพของปาล์ม การกำหนดโควตาการนำปาล์มเข้ามาขาย กำหนดระยะเวลา เกษตรกรก็ให้ความร่วมมือ กำลังผลิตได้วันละ 2,000 ตัน หรือ 2 ล้านกิโลกรัม น้ำมันดิบจากการสกัดก็จะส่งไปยังลูกค้าโดยมีบรรทุกเข้ามาขนส่งไปยังลูกค้าปลายทาง ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อไม่ให้น้ำมันล้นสต๊อก”
วีระยุทธ กล่าวว่า สถานการณ์เดือนพฤษภาคม หากเปรียบเทียบทั้งปี 100% แต่ในเดือนพฤษภาคมขยับเป็น 15-17% หลังจากนั้นจะลดลง ตอนนี้ทางโรงงานสามารถบริหารจัดการผลผลิตตกค้างได้ดีขึ้น โรงงานรับซื้อได้วันละ 2,000 ตัน จากเกษตรรายย่อย หรือชาวสวนโดยตรงวันละ 400 ตัน
ส่วนที่เหลือ 1,600 ตัน จากลานเทบริษัท 800 ตัน และลานเทคู่ค้า 800 ตัน ปาล์มในโรงงานมีประมาณ 4,600 ตัน ค้างอยู่ในลานเทประมาณ 1,400 ตัน รวมแล้วประมาณ 6,000 ตัน จะต้องใช้เวลาประมาณกว่า 3 วัน จึงจะสกัดน้ำมันได้ทั้งหมด มีเครื่องจักร 6 ตัว เดินเครื่องตลอดเวลา 24 ชม. 4 ตัว สำรองอีก 2 ตัว
“ส่วนที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้โรงสกัดตรึงราคารับซื้อจากเกษตรกรไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ทางโรงงานยินดีให้ความร่วมมือ แต่ทางโรงงานก็ห่วงกังวลเรื่องสภาพการณ์ด้านการตลาดโลก เพราะปาล์มน้ำมันไม่ใช่เฉพาะตลาดภายในประเทศ แต่ต้องอิงตลาดต่างประเทศด้วย จึงขอแจ้งพาณิชย์จังหวัดว่าอาจจะต้องมีการประเมินทุกๆ 7-10 วัน เพราะตอนนี้สถานการณ์โลกมีความเสี่ยงมาก ถ้าวันหนึ่งสถานการณ์โลก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกควบคุมไม่ได้ ราคาร่วงลงมาก ก็คงต้องขอให้มีการทบทวนราคา”

ขณะที่ สมศักดิ์ ไทยแก้ว เกษตรกรที่เร่งตัดผลผลิตปาล์มสุก กล่าวว่า “อยากให้หน่วยงานรัฐมีการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์สกัดน้ำมันปาล์มดูข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมาผลผลิตปาล์มน้ำมันไปอยู่ที่กว่า 20 เปอร์เซ็นต์สกัดแล้ว เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร ต้นทุนของเกษตรกรสูงประมาณ กก.ละ 5 บาท เฉพาะค่าตัดตันละ 1,000 บาท ปุ๋ยกระสอบละ 1,400 บาท ตอนนี้เกษตรกรไม่พอซื้อปุ๋ย ราคาที่เกษตรกรอยู่ได้จะต้อง กก.ละ 5.50 -6.00 บาท”


พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานทั้ง 4 แห่ง และติดตามการรับซื้อผลผลิต โรงงานให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภาย ตรึงราคา กก.ละไม่ต่ำกว่า 5 บาท แต่จะต้องดูคุณภาพผลผลิตจากลานเทและจากเกษตรกรด้วย มีความสุกจัด เมื่อหีบออกมาแล้วจะต้องได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันเป็นไปตามกฎหมายกำหนดด้วย
“แต่ในที่นี้ ยังมีผลผลิตปาล์มส่วนหนึ่งไม่มีคุณภาพ อาจเพราะทีมตัดที่ต้องการได้น้ำหนักที่มากเพื่อจะได้ค่าตอบแทนที่สูงแต่ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพผลผลิตจึงได้ผลไม่สุกดี จึงต้องเข้าใจผู้ประกอบการด้วย ส่วนตัวเป็นคนกลางอยู่ระหว่างโรงงาน ลานเท และเกษตรกร ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป”
“เบื้องต้น ทางโรงงานทั้ง 4 แห่ง พร้อมให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายในสำหรับผลผลิตที่มีคุณภาพ ดังนั้น เมื่อครบ 10 วัน ทางกรมการค้าภายในก็อาจจะส่งเจ้าหน้าที่ลงมาประเมินภาพรวมอีกครั้งและดูแนวโน้มตลาดด้วย เพื่อดูมาตรการในขั้นต่อไป” รองผู้ว่าฯตรัง กล่าว

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบลานเท หรือลานรับซื้อรายย่อย พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จำเป็นต้องขายลานเท เนื่องจากโรงงานอยู่ไกล หากต้องขนไปขายที่โรงงานไม่คุ้มค่าขนส่ง โดยราคาที่ลานเทยังอยู่ที่ประมาณกก.ละ 3.70 - 4.00 บาท เพราะทางโรงงานซื้อผลผลิตปาล์มจากลานเทไม่ถึงกก.ละ 5 บาท อันเนื่องมาจากคุณภาพของผลปาล์มสุกไม่เต็มที รวมทั้งปัญหาการติดคิวขายยังมีอยู่อย่างน้อย 1-2 คืน น้ำหนักปาล์มหาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา จึงตัดสินใจขายให้กับลานเท

