กระเช้าไฟฟ้า ภูกระดึง! ทางออก? เมื่อ ‘ภูมิธรรม’ ดูแล

8 มกราคม 2567 - 04:27

phumtham-phu-radueng-cable-car-SPACEBAR-Hero.jpg
  • จับตา มหากาพย์ กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จะจบยุค ‘ภูมิธรรม’ หรือไม่

  • หลัง ลงพื้นที่ฟังความเห็น ดูจุดต่าง สร้างจุดสมดุล ‘สร้าง-ไม่สร้าง’ เป้าหมาย สร้างไทยเป็นฮับ รับนักท่องเที่ยว กระตุ้น ศก.อีสาน

  • ย้ำ ยังต้องฟังความเห็นต่าง บวกผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เรียกได้ว่า ชูการรับฟังให้รอบด้าน สำหรับการจะ ‘สร้าง-ไม่สร้าง กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง’ ซึ่งในท่ามกลางห้วงเวลาที่ไทยจะบูมท่องเที่ยวยกใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้ได้เม็ดเงิน และส่งเสริมอาชีพคนท้องถิ่น ก็เห็นทีต้องคุยให้จบ เบื้องต้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.สรุปภาพรวมให้ รองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย ได้รับฟังแล้ว เมื่อครั้งลงพื้นที่ (6 มกราคม 2567) ว่า ‘ภูกระดึง’ คนอยากเที่ยว! ติดปัญหา ที่คนบางกลุ่ม ‘ขึ้นภูยากลำบาก’ อาจจะตั้งแต่คนวัยกลางคน ไปจนถึง ผู้สูงอายุ นั่นจึงเป็นที่มาให้มีความอยากได้กระเช้าไฟฟ้า มานานแล้ว

ขณะที่อีกด้าน ต้องยอมรับว่า ยังมีความเห็นต่างที่ต้องรับฟัง ทั้งยังต้องบาลานซ์การศึกษา ‘ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ ของฝ่ายสิ่งแวดล้อมด้วย

“เราไม่ปฏิเสธเสียงที่เห็นต่างคิดว่าควรต้องหาทางออกที่ดีที่สุด อุทยานแห่งชาติภูกระดึงสามารถแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ความเห็นทั้งหมดรวมกันได้ เป็นธงสำคัญที่เราคุยกับทุกฝ่าย แต่ขณะเดียวกันเราก็ให้ฝ่ายที่ศึกษาในการสร้างกระเช้าขึ้นศึกษาหนทางที่กระทบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและข้อกังวลใจของคนต่างๆให้น้อยที่สุด ตนได้ให้ความมั่นใจว่าจะให้งบที่ ครม. อนุมัติแล้วสามารถดำเนินการได้โดยเร็วที่สุด”

ภูมิธรรม กล่าว

phumtham-phu-radueng-cable-car-SPACEBAR-Photo03.jpg

กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง มีแล้ว ใครจะได้อะไร?

นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึง ‘ลูกหาบ’ ว่า ถือเป็นกลุ่มคนสำคัญ เป็นบุคลากรที่เป็นองค์ประกอบให้การท่องเที่ยวมีศักยภาพ รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดี เนื่องจากลูกหาบรู้จักป่าและเส้นทางในป่าดีที่สุด ลูกหาบเป็นอาชีพเฉพาะถิ่น หาที่อื่นไม่ได้ เป็นอาชีพที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย จากการพูดคุยกับลูกหาบ อายุ 60 กว่า พบว่า ยังแข็งแรงมาก แต่การท่องเที่ยวที่ลดลง ก็ทำให้ลูกหาบ มีจำนวนลดลงตามไปด้วย ดังนั้น กระเช้าไฟฟ้า จึงจะช่วยฟื้นคืนให้ทั้งอาชีพ และการท่องเที่ยว กลับมาบูม สร้างเศรษฐกิจของจังหวัดที่ดีขึ้น

phumtham-phu-radueng-cable-car-SPACEBAR-Photo04.jpg

“ได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด คิดเรื่องท่องเที่ยวครบวงจรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ให้ที่นี่เป็นฮับการท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนบน ถ้าจัดการได้สมดุลก็จะทำได้ เสียงคัดค้านเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นตัวอย่าง คัดค้านมา 40-50 ปี ถึงเวลาทำก็สามารถแก้ปัญหาได้หลายอย่าง คิดว่าเรารับฟังเสียงคัดค้านเอามาหาจุดที่สมดุล จัดการข้อกังวลเอามาปรับก็จะไปได้ ทุกอย่างเกิดได้แน่นอน ถ้าสำเร็จตนเป็นคนแรกๆ ที่จะมาขึ้นกระเช้า”

ภูมิธรรม กล่าว

phumtham-phu-radueng-cable-car-SPACEBAR-Photo01.jpg

สรุปภาพ ‘ภูกระดึง’ อดีต-ปัจจุบัน

กล่าวได้ว่า แนวคิด “กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ‘สร้าง-ไม่สร้าง’” มีอายุการถกมากว่า 40 ปีแล้ว การถูกจุดประเด็นขึ้นมาครั้งนี้ ต้นสายปลายเหตุมาจากการดำริของ ‘นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน’ เมื่อครั้ง ครม.สัญจร ก่อนที่ในเดือน ธันวาคม 2566 จะมีวาระการประชุมที่ให้นำเสนอโครงการของแต่ละจังหวัดเข้าสู่การพิจารณา เลยเป็นเหตุให้ ‘จังหวัดเลย’ นำเสนอโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้า ขึ้นภูกระดึง... และที่ประชุมก็มีการ ‘อนุมัติในหลักการ’ ก่อนให้ไปเรียงลำดับพิจารณาความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในการเขียนแบบก่อสร้างที่ใช้งบราว 28 ล้านบาท 

ขณะที่ ณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 5 จังหวัด และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดเลย เชื่อว่า รอบนี้ กระเช้าภูกระดึง 100 เปอร์เซ็นต์เกิดแน่! เพราะเชื่อว่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ทำงานเยอะ เวลาน้อย ขอว่องไวและสะดวกสบายในการสัมผัสความงดงามของธรรมชาติ

ด้าน ภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอภูกระดึง ยืนยันว่า คนพื้นที่รอมานาน 99% เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกหาบ ร้านค้าทั้งในอำเภอภูกระดึง และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เนื่องจากลูกหาบส่วนใหญ่อายุมาก หาบไม่ไหวแล้ว นักท่องเที่ยวก็ลดลงทุกปี ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตบ่อยครั้ง

phumtham-phu-radueng-cable-car-SPACEBAR-Photo05.jpg

“เราคือผู้พิชิตภูกระดึง!” จะหายไปไหม?

ทั้งนี้ หากกระเช้าไฟฟ้า ‘เกิดขึ้น’ ต้องไม่ทำให้ คำกล่าว “เราคือผู้พิชิตภูกระดึง!” หายไป ซึ่งก็น่าจะยังคง ‘การเดินขึ้นด้วย 2 ลำแข้ง’ ให้เป็นทางเลือกของบรรดานักท่องเที่ยว ว่าจะ ‘ใช้ลำแข้ง’ ไต่ขึ้นไปทีละภู หรือ เลือกขึ้นกระเช้า และหรือ เลือกทั้งสองทาง ก็จะเป็นอีกสีสันและบรรยากาศการท่องเที่ยว และอาจทำให้ได้เห็นภาพการขึ้นภูกระดึง จ.เลย ปรากฏบนสื่อโซเชียลมากขึ้นในอนาคต

phumtham-phu-radueng-cable-car-SPACEBAR-Photo06.jpg
ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์