เงินกู้ 5 แสนล้านไม่เคลียร์ ‘พิชัย’ แจง ซื้อเวลารอประเมินลาดเลา

25 เม.ย. 2568 - 11:05

  • พิชัย เผย ยังไม่สรุปแผนกู้เงิน 5 แสนล้านบาท

  • เหตุต้องรอประเมินผลกระทบจากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าไทย ที่อาจกระทบ GDP และการจ้างงาน

  • ระบุต้องพิจารณาโครงการที่ตอบโจทย์อนาคตประเทศ

pichai-economics-loan-5-hundred-billion-baht-gdp-SPACEBAR-Hero.jpg

พิชัย​ ชุณหวชิร​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวคิดรัฐบาล เตรียมผลักดันกฎหมายกู้เงิน 2 ฉบับ วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า ยังไม่อยากสรุปชัดเจน เพราะเงื่อนไขประเทศมีหลายแบบ และเศรษฐกิจการค้ายังเดินไม่คล่อง

“ขออย่าพูดว่าแผนกู้เงินเลย แต่เหตุการณ์สหรัฐตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของไทย กว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จะมี 2 เรื่อง โดยการแก้ไขต่อให้จบในทางที่ดีที่สุด ซึ่งช่วงนี้ทุกคนคิดไม่ออกเปรียบเสมือนนาฬิกาที่หยุดเดิน หรือเดินบ้างไม่เดินบ้าง การค้าหยุดชะงักไป บางส่วนยังซื้อ บางส่วนไม่ซื้อ หรือบางส่วนไม่ลงทุนเลย เพราะฉะนั้นจะส่งผลต่อ GDP อย่างแน่นอน นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะแรงหรือไม่แรง”

“อย่าเพิ่งเรียกว่าแผนการกู้เงินเลย วันนี้สิ่งที่จะทำทุกคนเห็นหมด โดยเรื่องนี้ที่เกิดขึ้น กว่าจะแก้จบได้ ก็มีเรื่องที่สอง ซึ่งการแก้ไขต่อให้จบในทางที่ดีที่สุด ช่วงนี้ทุกคนคิดไม่ออก เหมือนนาฬิกาหยุดเดินไปครึ่งๆกลางๆ เดินบ้างไม่เดินบ้าง การค้าหยุดชะงัก บางส่วนเรื่องซื้อ บางส่วนไม่ซื้อ บางส่วนไม่ลงทุนเลย ขอหยุดดู ซึ่งมันมีผลต่อจีดีพีแน่นอนในโลกนี้ และนั่นก็ขึ้นอยู่ว่ามันจะแรงไม่แรงอีก ดังนั้นเราขอเดาว่ามีผลต่อจีดีพีแน่นอน”

“แต่ระดับของความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะออกมา ฉะนั้นวันนี้เราต้องประเมินผลกระทบในแต่ละระดับความรุนแรงทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นหากประเมินว่า GDP ไม่ดี หมายความว่าประชาชนไม่กินดีอยู่ดี คือไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีเงิน ไม่มีการจ้างงาน ไม่มีการผลิตและการบริการ ที่จะนำไปถึงการส่งออก และบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น มันไล่ตามมา เราจึงถามว่าเมื่อต้นเหตุเป็นอย่างนี้ จะทำอย่างไรให้คนมีรายได้น้อย กลับมามีรายได้ ทำให้ประเทศกลับมาเศรษฐกิจดี เกิดการจ้างงาน เรื่องนี้ต้องคิด”

“ส่วนหากถามว่าจะกู้จากที่ใด ก็ต้องดูที่โครงการก่อน แต่โครงการนั้นจะต้องตอบโจทย์ ว่าจะดีต่ออนาคตของประเทศไทยเชิงประสิทธิภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ส่วนหากจะพูดเกินกว่านี้ตนคงตอบไม่ได้ เพราะจะเกินกว่าสถานการณ์ไป”

สำหรับกฎหมายกู้เงิน 2 ฉบับ วงเงิน 5 แสนล้านบาท ดังกล่าว รัฐบาลคาดหวังนำมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งเพื่อชดเชยผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกและการลงทุนของไทย, เพื่อลงทุนในประเทศ โครงการสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะโครงการแก้ไขปัญหาน้ำแบบครบวงจร และการจ้างงาน และรวมถึง การออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์