ครม.กระตุ้นอสังหาฯ สรุป ‘เศรษฐา’ ช่วยใคร?

13 เมษายน 2567 - 02:34

real-estate-stimulus-measures-ecosystem-hourse-builder-SPACEBAR-Hero.jpg
  • นายกฯ เศรษฐา ตอกย้ำ มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและประโยชน์ทุกฝ่าย

  • ฟากฝั่งผู้ประกอบการได้ประโยชน์ทั้ง Ecosystem ขณะที่ ‘คนสร้างบ้าน’ ได้ลดหย่อนภาษี

  • ชี้ แง่เศรษฐกิจ ถือเป็นการช่วยทั้งระบบ โตไปด้วยกัน

มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ คือ ‘ยาสามัญ’ ช่วยอาการป่วยทางเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซาเรื้อรัง กล่าวได้ว่า ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหน ต่างก็ใช้มาตรการอสังหาริมทรัพย์ด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่สร้างความฮือฮา ในรัฐบาลครั้งนี้ อาจเป็นเพราะ ผู้นำรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นผู้มาจากแวดวงอสังหาฯ จึงเลี่ยงที่จะพ้นคำถาม หรือคำครหา ‘เอื้อนายทุนหรือไม่?’ กับมติ ครม. 9 เมษายน 2567 ที่ออกมาเพื่อวาดหวังกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และช่วยประชาชนให้เข้าถึงบ้านได้ง่ายขึ้น แต่แล้วเรื่องนี้ ใครก็เผยแทนไม่ได้ นอกจากตัวท่าน

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงตอกย้ำ ถึงความสำคัญของเศรษฐกิจ ว่า นอกจากการส่งออกแล้ว ภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นตัวชี้วัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยทางหนึ่ง เพราะในท่ามกลางสภาวะการส่งออกที่ไทยยังทำได้ไม่มาก เหมือนอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาตรการกระตุ้นอื่นๆ ก็ควรต้องทำ และอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นหนทางหนึ่ง 

ส่วนจะเป็นการเอื้อนายทุนหรือไม่ อยากให้ดูให้ครบ เพราะหลายรัฐบาลในอดีตก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบได้ ทั้งยังต้องผ่านหลายกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อคิดเห็นจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) เรื่องนี้ จึงทำเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น มาตรการที่ออกมา ก็ถือเป็นการกระตุ้นได้ทั้งระบบ คาดหวังว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ GDP ให้เติบโตขึ้นได้ถึง 1.7-1.8%

“ขอเรียนว่าเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ถ้าดูในแง่ของเศรษฐกิจโดยรวม สมุมติว่าถ้าคนซื้อบ้าน 1 หลังเขาจะซื้ออะไรบ้าง ซื้อพรม กระจก ประตู สุขภัณฑ์แอร์ เฟอร์นิเจอร์และอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลในทางที่ดี และเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ ก็ถือเป็นการออมอย่างหนึ่ง และไม่ใช่ประเด็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่คนที่จะสร้างบ้านเอง ก็จะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีด้วย”

นายกฯ เศรษฐา กล่าว

มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ อะไรที่ใหม่กว่าเดิม

ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ครั้งนี้ เป็นมาตรการที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต่างๆ ได้ร้องขอกันมานานมากแล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลกำหนดเพดานมาตรการ ‘ลดค่าโอน-จดจำนอง’ ไว้เฉพาะบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเท่านั้น แต่มาตรการหนนี้ ยังครอบคลุมถึงที่อยู่อาศัย ในราคาไม่เกิน 7 ล้านบาทด้วย สรุปรายละเอียด 5 มาตรการช่วยเหลือ ดังนี้ 

1. การลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองเหลือรายการละ 0.01% ครอบคลุมที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาท
2. ให้สิทธิลดหย่อนภาษีจาก ‘การสร้างบ้าน’ ในอัตรา ‘ล้านละหมื่น’ รวมไม่เกิน 100,000 บาท (ซึ่งอดีตไม่เคยมี)
3. โครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ Happy Home 
4. Happy Life เพื่อผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของตนเอง โดย ธอส. 
5. การขยายเพดานโครงการบ้าน BOI เป็น 1.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องติดตามต่อไปว่า ผลของมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ครั้งนี้ จะช่วยลดปัญหา  Oversupply ที่เกิดขึ้นในบางเซ็กเมนต์ได้หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มทาวน์เฮ้าส์ และอาคารชุด ในระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท ที่มีสต็อกเหลือขายถึง 74,500 ยูนิต และ 71,300 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วนถึง 96.3% และ 84.7% จากสต็อกในทุกระดับราคา ขณะที่สต็อกบ้านเดี่ยวที่กว่าครึ่งอยู่ในราคา 5-10 ล้านบาท ก็จะได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเช่นกัน

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์