นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เผยถึงโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีข้อกังวลจากฝ่ายค้านในประเด็นการตั้งงบประมาณข้ามปี ว่า เรื่องนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะชี้แจงในรายละเอียด ส่วนตัวมีความมั่นใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงานที่เข้ามาชี้แจงคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อเป็นการยืนยันการดำเนินการต่างๆ ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ยืนยันว่า ทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องสุจริต
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ซึ่งปัจจุบันมีบริการภาครัฐกว่า 152 บริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงภาครัฐผ่านช่องทางที่ง่าย จบ ครบทุกช่วงวัย นำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government โดยวางนโยบายพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ สำหรับลงทะเบียนรับสิทธิในโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 10,000 บาท ของรัฐบาล ไปสู่การสร้าง ‘Super App’ ยกระดับเป็นศูนย์กลางในการให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถติดต่อขอรับบริการจากภาครัฐผ่านแอปพลิเคชันนี้ได้อย่างครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง
รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ โดยการนำระบบ Blockchain มาใช้เพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรม ต้องมีการยืนยันตัวตนบนแอปพลิเคชันด้วยมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมถึงมีการเชื่อมข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ทำให้สามารถตรวจจับผู้ที่ดำเนินธุรกรรมอย่างผิดกฎหมาย หรือใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน รัฐมนตรีช่วย จุลพันธ์ ย้ำถึงข้อกังวลการใช้แอปพลิเคชันทางรัฐ ที่อาจจะมีมิจฉาชีพเข้ามาฉวยโอกาสนำข้อมูลประชาชนไปใช้ ว่า เรื่องของระบบการยืนยันตัวตนเป็นระบบที่มีความปลอดภัยในระดับสูงสุดและเป็นมาตรฐานสากล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีคนเข้ามาโหลดแอปฯ ทางรัฐ รวมถึงดำเนินการลงทะเบียนวันหนึ่งไม่ต่ำกว่าประมาณ 1 ล้านคนโดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมายไว้
“นี่ยังไม่เริ่มวันที่ 1 ส.ค. ที่จะเริ่มกระบวนการยืนยันเสร็จ แต่ก็มีการลงทะเบียนมาแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์กับทางระบบมาก เพราะเป็นการผ่องถ่ายโหลดของระบบเพื่อให้ระบบสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น และมาจนถึงวันนี้ยังไม่ได้มีปัญหาใดๆ แต่ต้องยอมรับแอปฯทางรัฐจะเป็น Super App ในอนาคตที่จะเป็นศูนย์รวมบริการของภาครัฐจำนวนมาก ขณะนี้มีหน่วยงานของรัฐมาเชื่อมต่อในเรื่องการบริการหลายๆส่วน”
นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่แอปฯทางรัฐรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลไกที่จะต้องเดินหน้าเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้เป็นปัญหา เพราะเราเตรียมพร้อมรองรับ และบางหน่วยงานที่มาเชื่อมต่อและกระบวนการที่ประชาชนเข้าไปลองกดใช้ดูบางส่วน บางอย่างช้าเพราะไม่ได้เตรียมรองรับประชาชนจำนวน 10 กว่าล้านคนที่เข้ามาแล้วในปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้เป็นข้อดี ที่จะได้เห็นถึงข้อจำกัดของบริการภาครัฐในแต่ละมิติ และคงจะมีการประสานงานเพื่อที่จะอัปเกรดในเรื่องของความจุ หรือปริมาณการเข้าถึงให้มากขึ้นต่อไป ยืนยันเรื่องการลงทะเบียนแอปฯ ทางรัฐไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นกลไกในการยืนยันตัวตนระดับสูงมาก ฉะนั้น เรื่องความปลอดภัยจะอยู่ในระดับสูงสุด ไม่มีปัญหาใดๆ
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ถูกออกแบบมาให้มีการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าแบบพบหน้า และต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันกับชื่อที่อยู่ในทะเบียนบ้าน หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขจะทำให้การใช้จ่ายนั้น ‘ไม่ผ่าน’ ทำให้ต้องมีการตรวจสอบ 3 ด้าน ได้แก่
1. ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการฯ
2. ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ ลงทะเบียนโครงการฯ และ
3. พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ชื่อที่อยู่ในทะเบียนบ้านกับที่อยู่จริง ณ ปัจจุบัน ไม่ตรงกัน กระทรวงการคลังเปิดโอกาสให้สามารถย้ายที่อยู่ในทะเบียนบ้านได้ โดยให้ย้ายทะเบียนบ้าน ที่อำเภอ หรือสำนักงานเขต ให้เสร็จสิ้นก่อนทำการลงทะเบียนสมัคร Digital Wallet 1 วัน เช่น หากวางแผนจะลงทะเบียนสมัคร Digital Wallet ในวันที่ 1 กันยายน 2567 ให้ย้ายทะเบียนบ้านให้เสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567