จับตา ดีลยักษ์ สะเทือนวงการค้าปลีกโลก เมื่อ Seven & i Holdings หรือ เซเว่น แอนด์ ไอ บริษัทแม่ 7-Eleven ของญี่ปุ่นและทั่วโลก ได้รับข้อเสนอซื้อกิจการจาก Alimentation Couche-Tard (อาลีเมนเทชัน คูช-ทาร์ด) เจ้าของ ‘เซอเคิล เค’ (Circle K) ยักษ์ใหญ่ร้านสะดวกซื้อสัญชาติแคนาดา ซึ่งบริหารร้านสะดวกซื้อกว่า 1.7 หมื่นสาขา ใน 30 ประเทศ
โดย Nikkei Asia รายงานว่า หากดีลนี้เกิดขึ้นจริง จะเป็นดีลการเข้าซื้อกิจการของบริษัทต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ Seven & i อยู่ที่ประมาณ 4.6 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท โดยหากบริษัทสัญชาติแคนาดาบรรลุดีลซื้อกิจการ 100% ข้อตกลงอาจมีมูลค่าอย่างน้อย 5 ล้านล้านเยน (ราว 1.16 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะถือเป็นดีลซื้อบริษัทญี่ปุ่นจากต่างชาติครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา
หลังนิเกอิ รายงาน เซเว่น แอนด์ ไอ (Seven & i) แถลงอย่างเป็นทางการ ยืนยันแล้วว่า บริษัทได้รับข้อเสนอจากอาลีเมนเทชัน คูช ทาร์ด เพื่อซื้อหุ้นคงเหลือทั้งหมดของบริษัท และว่า คณะกรรมการบริหารของบริษัทได้จัดตั้งคณะกรรมพิเศษเพื่อพิจารณาข้อเสนอ ซึ่งประกอบไปด้วยคณะกรรมการอิสระจากภายนอก โดยคณะกรรมกลุ่มนี้จะดำเนินการพิจารณาข้อเสนออย่างรอบคอบ และครอบคลุม
ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะกรรมการอิสระ กำลังพิจารณาหลากประเด็นสำคัญ ทั้งข้อเสนอประเมินมูลค่าเซเว่น แอนด์ ไอ เหมาะสมหรือไม่ และจะนำพาบริษัทเติบโตระยะได้หรือไม่ หากคณะกรรมปฏิเสธข้อเสนอ อาลีเมนเทชัน คูช-ทาร์ด อาจเปิดประมูลซื้อกิจการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเซเว่น แอนด์ ไอ
อย่างไรก็ตาม อาลีเมนเทชัน คูช-ทาร์ด ได้ตอบกลับผ่านแถลงการณ์ถึงประเด็นนี้เมื่อวันจันทร์ (19 สิงหาคม 2567) ระบุว่า ข้อเสนอของตนเป็นมิตร และบริษัทให้ความสำคัญกับการทำธุรกรรมที่เห็นพ้องต้องกัน และเป็นประโยชน์แก่ลูกค้า พนักงาน แฟรนไชส์ และผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่าย
และเสริมว่า “ขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงหรือการทำธุรกรรมใด ๆ”
Alimentation Couche-Tard มีร้านค้าในอเมริกาเหนือ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ โปแลนด์ และประเทศอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ Couche-Tard และ Circle K บริษัทมีร้านค้าประมาณ 17,000 แห่งในประมาณ 30 ประเทศทั่วโลก โดยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตรอนโตและมีมูลค่าตามราคาตลาดประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา (58,500 ล้านดอลลาร์) ทั้งนี้ในอดีต Alimentation Couche-Tard เคนติดต่อ Seven & i เพื่อขอซื้อกิจการมาแล้วในปี 2020
7-Eleven ญี่ปุ่น ทำสาขาไร้พนักงาน รับวิกฤตแรงงาน
สำหรับประเทศญี่ปุ่น กล่าวได้ว่า เป็นเมืองแห่ง ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ด้วยวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ และทำงานหนักถวายชีวิต ร้านสะดวกซื้อ ถือเป็นบ้านขนาดย่อมที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนขาดไม่ได้ แต่ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น ก็ได้รับผลกระทบจาก ‘วิกฤติสังคมสูงวัย’ และมีแนวโน้มเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีปัญหา ‘ขาดแคลนแรงงาน’ กระทั่งทำให้ 7-Eleven ในบางจุด ปรับกลยุทธ์ ทำสาขาไร้พนักงาน เช่น ในคอนโดมิเนียม โรงงาน และสถานที่ทำงานที่มีพนักงานอย่างน้อย 500 คน พร้อมมีแนวโน้มขยายขึ้นขึ้นอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีพนักงานหน้าร้านเลย แต่แต่ละสาขาจะมีการจ้างพนักงานประจำร้านแค่ 1 คน เพื่อทำงานสต๊อกสินค้าหลังร้านเท่านั้น ในด้านสินค้าที่วางในสาขาไร้พนักงาน จะเป็นสินค้าที่เน้นสะดวก เช่น ข้าวปั้น ขนมปัง อาหารกลางวันแบบกล่องแช่เย็นและของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงกาแฟสด โดยจำนวนสินค้าจะลดลงครึ่งหนึ่งจากสาขาปกติ