สงกรานต์ 2567 หยุดยาว ดันเงินสะพัดหลักแสนล้าน

6 เม.ย. 2567 - 06:29

  • คาด สงกรานต์ไทย มีเม็ดเงินสะพัดตั้งแต่หลักหมื่น-แสนล้าน

  • TTB analytics ให้ตัวเลข 4.2 หมื่นล้าน ชี้ นักท่องเที่ยวแห่ใช้จ่าย แต่ยังจะเพิ่มได้อีก หากรัฐต่อยอดวางแผนสร้างความคุ้ม ส่งถึงปีหน้า

  • ขณะที่ ม.หอการค้า ให้ตัวเลข 2 แสนล้าน ตอกย้ำการ ‘ขึ้นทะเบียนมรดกโลก’ ซึ่งรัฐหนุนเป็นเทศกาลระดับโลก จัดงานสงกรานต์นาน 21 วัน

songkran-festival-2024-ttb-analytics-utcc-spending-money-SPACEBAR-Hero.jpg

แน่นอนว่า แต่ละเทศกาลมีการเดินทางและการท่องเที่ยว และเกิดการใช้จ่ายและทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก โดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ TTB analytics ทำการวิเคราะห์ เทศกาลสงกรานต์ปี2567ของไทย ว่า เป็นเทศกาลสำคัญของคนไทยในการกลับภูมิลำเนาเพื่อพักผ่อนใช้เวลากับครอบครัว เนื่องจากแต่ละคนจะมีวันหยุดยาวอย่างน้อย 3 - 5 วัน และมากสุดคือ 11 วัน หากลางานลากยาวได้ตั้งแต่วันหยุดชดเชยวันจักรีในวันที่ 8 เมษายน ต่อเนื่องวันหยุดพิเศษตามประกาศของรัฐบาลในวันที่ 12 เมษายน กระทั่งถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งสำหรับคนไทย ก็มีทั้งการเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนา หรือ ท่องเที่ยว หรือทั้งสองอย่าง ดังนั้น เทศกาลสงกรานต์ 2567 จึงจะเป็นแรงส่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถชดเชยส่วนต่างที่หายไปจากฤดูท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปีได้ 

เช็กตัวเลข นักท่องเที่ยวสงกรานต์

กล่าวได้ว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น โดยในด้านจำนวน คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไทยในเดือนเมษายน 2567 จะมีจำนวนราว 3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้ากว่า 42% (เดือนเมษายน 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 2.18 ล้านคน) ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับการท่องเที่ยวไทย โดยเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดอยู่ที่ 24,300 ล้านบาท

แต่เมื่อรวมเม็ดเงินจากทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ พบเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉพาะวันที่ 12-16 เมษายน คาดว่าจะแตะ 41,500 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2566 ที่เม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ราว 26,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 55% ด้วยสาเหตุหลักซึ่งประกอบด้วย 
- เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ช่วงวันหยุดสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีกว่าปีก่อน ที่ในเทศกาลมีวันหยุดเพียง 4 วัน 
- นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเริ่มจับจ่ายตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 เมษายน ลากยาวจนเดินทางกลับมาทำงานหลังสงกรานต์ ก็คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินเพิ่มเติมราว 25,800 – 37,400  ล้านบาท 

ซึ่งเมื่อรวม 2 ช่วงวันหยุดคิดเป็นเงินสะพัดถึง 67,300 – 78,900 ล้านบาท จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงการกำหนดวันหยุดพิเศษต่างๆ ที่ควรจะสอดคล้องและเอื้ออำนวยกับภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแม้จำนวนวันหยุดที่เท่ากัน แต่ช่วงเวลาที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อเม็ดเงินให้สะพัดเพิ่มมากขึ้นในภาคท่องเที่ยวไทย

ttb analytics ยังทิ้งท้าย ว่าเม็ดเงินสะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 อาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าตัวเลขข้างต้น  โดยหากภาครัฐสามารถต่อยอดนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ได้เพิ่มเติม เช่น ให้สามารถนำ รายจ่ายค่าที่พัก และอาหาร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์สามารถนำมาลดหย่อนภาษี หรือขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำโปรโมชันกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้คนไทยที่มีความต้องการเดินทางไปต่างประเทศช่วงสงกรานต์ รู้สึกคุ้มค่าเพียงพอในการเลื่อนการเดินทางต่างประเทศออกไปในช่วงเวลาอื่นที่มีวันหยุดยาว เช่น เดือนพฤษภาคม หรือ กรกฎาคม และใช้ช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์เพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้นในปีถัดๆ ไป

สงกรานต์ไทย เทศกาลระดับโลก จัด 21 วัน

อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนมุมมอง ฟากฝั่งเอกชน ที่ล้วนมองว่า สงกรานต์ปีนี้คึกคักกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากประเพณีสงกรานต์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และรัฐสนับสนุนให้สงกรานต์เป็นเทศกาลระดับโลก โดยปีนี้สนับสนุนให้มีการจัดงานสงกรานต์นาน 21 วัน ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวสงกรานต์ในไทยเพิ่มขึ้น จึงคาดการณ์รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ (21 วัน) เกือบ 70,000 ล้านบาท ทำให้ประเมินว่าสงกรานต์ปีนี้ ตลอด 21 วัน จะมีเงินสะพัด 200,000 ล้านบาท

“สงกรานต์ปี 2567 คึกคักกว่าปี 2566 คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่ายของคนไทย หรือเงินสะพัด 128,834.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับปี 66 ที่มีเงินสะพัด 125,203.29 ล้านบาท ถือเป็นการใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 63 แต่ตัวเลขนี้ ยังไม่สามารถทำลายสถิติของปี 62 ที่มีเงินสะพัด 135,837.56 ล้านบาทได้ แต่หากรวมรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในช่วงสงกรานต์ 5 วัน อีกประมาณ 11,800 ล้านบาท จะมีเงินสะพัดรวม 140,000 ล้านบาท และหากรวมรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าไทยตลอด 21 วันของการจัดงานอีกราว 70,000 ล้านบาท จะมีเงินสะพัดสูงถึง 200,000 ล้านบาท”

อ.ธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า ประชาชนตั้งใจจะไปเล่นน้ำสงกรานต์ 45.2% นอกจากนี้ ยังวางแผนการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่คนนิยมไปท่องเที่ยวมากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี อยุธยา กาญจนบุรี และระยอง สำหรับที่มาของเงินที่ใช้ในเทศกาลสงกรานต์นั้น ผู้ตอบ 54.8% มาจากเงินเดือนรายได้ตามปกติ, 39.7% เงินออม และ 2.6% เงินกู้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสงกรานต์ปี 67 คึกคักกว่าปี 66 เพราะคนวางแผนท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ยังระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากของแพงขึ้น ต้องการประหยัด มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น และมีหนี้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัว 2.01- 2.50% สะท้อนมุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของประชาชนยังไม่ดี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์