เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับ ‘อะซูไรต์ โอเพนเอ็กซ์ดีอาร์’ (AZURITES OpenXDR) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มความปลอดภัยทางไซเบอร์ ฝีมือสตาร์ตอัปไทยเป็นผู้ออกแบบ เพื่อนำมาช่วยองค์กรต่างๆ ในการรับมือภัยไซเบอร์ที่กำลังรุนแรง และภาคธุรกิจ-องค์กรต่างๆ อาจถูกคุกคามได้ทุกเมื่อ
ภายในงานเปิดตัวซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงแขกผู้มีเกียรติทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้าร่วมงานจำนวนมาก ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของคนไทย ที่สร้างนวัตกรรมนำมาช่วยตอบสนอง-แก้ไขโลกยุคดิจิทัลด้านมืด พร้อมเป็นทางสว่างให้ภาคธุรกิจประกอบกิจการได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกโจมตีจนธุรกิจเสียหาย
นายธนจักร วัฒนกิจ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO : Chief Technology Officer) บริษัท ซินแคลร์ จำกัด เผย ซินแคลร์ เป็นธุรกิจสตาร์ทอัปด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์สัญชาติไทยที่แยกตัวออกมาจากเครือบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด (R V Connex Co., Ltd.) ซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดย ซินแคลร์ เป็นผู้ออกแบบนวัตกรรม และให้บริการระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนมากขึ้น เราจึงสร้าง ‘อะซูไรต์ โอเพนเอ็กซ์ดีอาร์’ ที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาให้เป็นระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูง ยกระดับความสามารถในการป้องกันด้วยการตรวจจับ และตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้กับองค์กร และธุรกิจแขนงต่างๆ
ทั้งนี้ บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ซินแคลร์ เคยต้องรับมือกับการโจมตีโดยกลุ่มแฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่างประเทศ (Nation-state Hacker) ที่มีความสามารถสูงมาก่อน เราจึงนำความรู้ และประสบการณ์จากทีมผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาโซลูชันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามระดับสูงที่องค์กรทั่วไปอาจไม่สามารถรับมือได้
นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากร มีการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศให้กับทีมงานในประเทศไทย เพื่อพัฒนาโซลูชันที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับบริษัทระดับโลก และทำให้วันนี้บุคลากรของบริษัทมีความรู้ และทักษะเฉพาะทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ไม่เพียงแต่ระดับประเทศ หรือภูมิภาค แต่บางคนมาจากระดับโลก ซึ่งช่วยให้ลูกค้าของเราสามารถลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านนี้ได้อีกทางหนึ่ง
“เราก็เคยเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยทางไซเบอร์มาก่อน จึงต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ หรือภาคธุรกิจทุกระดับ ซินแคลร์ จึงขอนำเสนอแพลตฟอร์มนวัตกรรม ‘อะซูไรต์ โอเพนเอ็กซ์ดีอาร์’ เพื่อเป็นทางเลือกให้ทุกคน”
นายธนจักร ระบุ
นายธนจักร ยังเผยว่า ซินแคลร์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านการป้องกันภัยไซเบอร์ โดยผู้ให้บริการตรวจจับ ป้องกัน และรับมือ (MDR : Managed Detection and Response) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการนำเสนอใน Gartner Peer Insights (แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้บริการ ให้คะแนน และประเมินซอฟต์แวร์ และบริการด้านเทคโนโลยี) และเป็นองค์กรแห่งแรกในประเทศไทยที่นำ NIST Cybersecurity Framework 2.0 มาใช้ในการจัดการกับความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลกและระดับภูมิภาคที่มีความซับซ้อนทุกรูปแบบ

3 จุดเด่นให้ความเหนือระดับมากกว่าระบบอื่น
สำหรับ AZURITES OpenXDR มีความแตกต่างจากโซลูชัน MDR อื่นๆ 3 ประการ ประกอบด้วย
1. Explainable Cybersecurity (GenAI)
• Krystal-Clear AI Alerts: ระบบแจ้งเตือนที่ประมวลผลด้วย AI ที่เข้าใจง่าย ทำให้มั่นใจได้อย่างเต็มที่ในมาตรการรักษาความปลอดภัยขององค์กร
• Tailored Protection : ระบบการป้องกันที่ปรับแต่งได้ ผ่านการพัฒนาด้วยโครงสร้างเชิงสถาปัตยกรรมขั้นสูง เพื่อการตรวจจับภัยคุกคามที่แม่นยำและรวดเร็ว นำหน้าภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป
2. Proactive Threat Hunting
• Dynamic Threat Defense : การป้องกันภัยคุกคามแบบไม่หยุดนิ่ง นำหน้าอาชญากรไซเบอร์ด้วยการป้องกันที่ปรับเปลี่ยนได้แบบเรียลไทม์
• Always-On Protection : การป้องกันแบบเปิดตลอดเวลา ติดตามภัยคุกคามที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI อัตโนมัติซึ่งจะสแกนหาความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันก่อนที่ภัยคุกคามเหล่านั้นจะเข้าถึงระบบ
3. Automated Incident Response (IR) Playbooks
• Immediate Threat Response: การตอบสนองต่อภัยคุกคาม โดยการแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติและดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงทันที เมื่อเกิดการรั่วไหลของข้อมูล หรือตรวจพบภัยคุกคามจากภายนอก
• Streamlined Incident Handling: มีคู่มือที่ให้คำแนะนำทีละขั้นตอนเพื่อการตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ด้าน Mr.Joel Wong (โจเอล หว่อง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ซินแคลร์ กล่าวด้วยว่า แพลตฟอร์มนวัตกรรม ‘อะซูไรต์ โอเพนเอ็กซ์ดีอาร์’ จะเป็นการกำหนดนิยามใหม่ว่า ธุรกิจต่างๆ จะรักษาความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตนได้อย่างไร โซลูชันของเราไม่ได้ตรวจจับภัยคุกคามเพียงอย่างเดียว แต่ยังติดตามภัยคุกคามอย่างเป็นเชิงรุก ระบุรายละเอียดของภัยคุกคามเหล่านั้นอย่างชัดเจน และตอบสนองทันที
“การได้รับการยอมรับจาก Gartner และการนำมาตรฐานระดับโลกมาใช้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนาโซลูชันที่มีคุณภาพสูงและเป็นไปตามมาตรฐานสากล สิ่งนี้สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของเราว่า พวกเขาจะสามารถรู้เท่าทันภัยไซเบอร์และป้องกันได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าแฮกเกอร์จะมาในรูปแบบไหนก็ตาม”
Mr.Joel Wong ระบุ
ทั้งนี้ ในอนาคต ซินแคลร์ ยังตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาระบบการตรวจหาและการตอบสนองตำแหน่งข้อมูล (EDR) ของไทยเอง ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เชิงรุกที่ช่วยระบุ ตอบสนอง และบรรเทาภัยคุกคามทางไซเบอร์บนอุปกรณ์ต่างๆ โดยจะพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชันบนมือถือที่ประชาชนคนไทยสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้เพื่อรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลของแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ