นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสวนาในงาน “Chula Thailand Presidents Summit 2025” หัวข้อ “Future Thailand: The Comprehensive View” โดยชี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออนาคตประเทศไทย คือ ความปั่นป่วนของโลก (Global disruption) ที่กำลังร้างการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ได้แก่
1. Technology disruption การเข้ามาของเทคโนโลยี มีทั้งมุมบวกมุมลบ เพราะเทคโนโลยีเคลื่อนอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าเราเคลื่อนจาก Digital Economy มาเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI), มาเป็น Chat GPT, มาเป็น เจนเนอเรทีฟ เอไอ อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไม่สิ้นสุด พร้อมกับเป็นที่มาให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งปณิธานจะเป็น University of AI ไม่ใช่ AI University ตั้งสถาบันเอไอ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปแล้ว ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องของเทคโนโลยี ยังจะมีการเปลี่ยนแปลง-เขย่าโลกให้เราติดตามได้ตลอดเวลา ดังนั้น มหาวิทยาลัย บริษัท องค์กรเอกชน ฯลฯ ต้องก้าวทัน
2. Demographic disruption หรือคือ ‘การเปลี่ยนแปลงทางประชากร’ ปัจจัยสำคัญคือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในเอเชียนั้น มีจีน ไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่เผชิญภาวะ Aging Society แล้ว ประชากรที่มีอยู่ 65-70 ล้านคน ถ้าเราพีคในสังคมสูงวัย อาจจะหายไปถึง 20 ล้านคน ภาพ Economy of scale จะไม่ใหญ่ เท่าเมียนมาร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็น Young Society ดังนั้นเมื่อแรงงานของเราลดลง จากการเป็นสังคมสูงอายุ การลงทุนในประเทศ ก็อาจลดลงตามมา ไทยเราจึงต้องวางแผนเรื่องแรงงาน รองรับการเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศไทย ในระยะข้างหน้า ทั้งยังมองด้วยว่า ประเทศไทย ยังไม่มีมาตรการดูแลผู้สูงวัย ให้กลับสู่ตลาดแรงงาน จึงเป็นเรื่องท้าทาย เป็นอนาคต (Future) ต่อไปในอนาคต
3. Pandemic disruption เรื่องโรคระบาดใหม่ ประสบการณ์โควิด 19 ทำให้ไทยต้องวางอนาคตด้าน ‘ความพร้อม’ ทั้งในเรื่องสาธารณสุข และการป้องกัน (Prevention) วัคซีน หน้ากากอนามัย PPE ฯลฯ เราพร้อมถึงไหนแล้ว หลังสภากาชาดสากล ได้แถลงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ว่า หลังโควิด 19 ประเทศส่วนใหญ่ไม่พร้อมอย่างน่าอันตรายอย่างยิ่งต่อโรคระบาดใหม่ เพราะโควิด 19 ทำเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย และไทยก็ใช้เวลามากที่สุดประมาณ 4 ปี ในการออกจากโควิด19 ฉะนั้น ถ้าเกิดขึ้นมาอีก ความพร้อมไทย เป็นอย่างไร? เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจยาวนานเหมือนที่เคยเกิดขึ้น
4. Environmental disruption คือ ความปั่นป่วนทางด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ทั่วโลกกำลังรับมือไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่คือ โลกเดือด (global boiling) เป็นความหายนะทางด้านภูมิอากาศ เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟป่า รุนแรงกว่าปกติ ไม่ใช่เรื่องอนาคตที่ลูกหลานจะอยู่ไม่ได้ แต่ได้เกิดขึ้นในปัจจุบันจนเราเองก็จะอยู่ไม่ได้แล้ว จากสถานการณ์โลกเดือด ที่ปรับตัวรุนแรงขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น Environmental disruption เกิดขึ้นถ้วนหน้าชนิดไม่เลือกคนจนคนรวยทีเดียว จะทำอย่างไรให้ลดลง นำเทคโนโลยีมาใช้ลดก๊าซเรือนกระจก การนำเรื่องคาร์บอนเครดิตมาใช้ และรวมถึงเรื่อง Adaptation (การปรับตัว) เป็นเรื่องที่ท้าทายในการประยุกต์ใช้ต่อไป
5. Jobs disruption (ความปั่นป่วนหน้าที่การงาน) วิชาสาขาที่จบแล้วได้งานทำ กลายเป็นสาขาวิชาที่จบแล้ว ‘ไม่มีงานทำ’ จะเห็นได้ว่า คนที่จบมาแล้วยังไม่มีงานทำ ไม่ใช่คนไม่มีการศึกษา แต่เพราะเขาจบมาช่วงยังไม่มีเทคโนโลยีล้ำ ยังไม่มี AI, Generative AI นั่นจึงเป็นที่มาให้ผู้จบใหม่กลุ่มนี้ ขึ้นขบวนรถไฟเทคโนโลยีไม่ได้ กลายเป็นคนไม่มีตั๋ว (ตกงาน) ทั้งๆ ที่มีศักยภาพ ดังนั้น การศึกษาต้องปรับตัวอย่างไรให้ทัน ปั้นหลักสูตรระยะสั้นตรงตลาดแรงงาน ปรับสกิลของคน ที่สำคัญ คือการต้องใช้เวลาอนุมัติหลักสูตรให้สั้นขึ้นด้วย (รีสกิล-อัปสกิล) ทำร่วมกับภาคเอกชน ปั้นบัณฑิตย์-อาจารย์พันธุ์ใหม่ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว
6. Geo-political disruption (ความปั่นป่วนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์) ซึ่งในความหมาย เป็นทั้งภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจ ภาวะการแข่งขันเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งการค้า-การลงทุน แข่งขันกันมานานจนเกิดเป็นสงครามทางการค้า สงครามการลงทุน สงครามเทคโนโลยี สงครามการเงินด้านการเงิน ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างมาก ... ดังนั้น เราจึงได้เห็นการเกิดขึ้นของกลุ่ม BRICS (หรือคือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง รวมตัวกันเพื่อสร้างอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก (บลาซิล รัสเซีย อินเดีย จีน เซาท์แอฟริกา) โดยการรวมตัวกันก็เพื่อต้องการสร้างอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก, สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมือง พร้อมมีการถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ต่อสู้สงครามการเงิน และอื่นๆ ซึ่งไทยก็ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย
ทั้งนี้ ในภาพของสงครามนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่สงครามแบบใหม่เกิดขึ้น พร้อมกับสงครามแบบเก่า (รัสเซีย-ยูเครน) ที่อดีตไทยไม่กระทบ แต่ขณะนี้เรียกว่ากระทบไปทั่ว โดยเฉพาะด้านราคาพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้ธนาคารทั่วโลกต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อหยุดภาวะเงินเฟ้อ นี่จึงเป็นสิ่งกระทบเศรษฐกิจมหภาคของทุกประเทศทั่วโลก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีปฏิสัมพันธ์และมีผลกระทบซึ่งกันและกัน

ดังนั้น ทิศทางอนาคตของไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ว่า ประเทศไทยต้องเป็น Future Ready Thailand ต้องเป็นประเทศที่พร้อมต่อการปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่น และมีความพร้อมในการปฏิรูป โดยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ 10 ประเด็น ดังนี้
1. การวางจุดยืนทางการเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ โดยตั้งผู้แทนพิเศษในด้านต่างๆ ในการเจรจากับสหรัฐฯ และจับมือกับอาเซียน ถ้าไทยมีอำนาจต่อรองไม่พอ
2. เตรียมพร้อมรับมือกับการดิสรัปชันทั้ง 4 ด้าน กล่าวคือ ด้านเทคโนโลยี, สังคมสูงอายุ, โรคระบาด และสิ่งแวดล้อม
3. การก้าวสู่ความยั่งยืน โดยอาศัยกรอบ SDGs, ESG
4. การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของไทย
5. ความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพ
6. ความมั่นคงด้านพลังงาน
7. การปฏิรูปการศึกษา
8. การกิโยตินกฎหมาย
9. การปฏิรูปการทำงานของกระทรวง ทบวง กรม
10. การให้ความสำคัญกับงานวิจัย (R&D for competitiveness)
อย่างไรก็ตาม อีกส่วนของการทำงานที่จะเสริมความสำเร็จได้ ยังต้องอาศัยผู้นำจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ทั้ง 4 ฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน เพื่ออนาคตของประเทศไทย
