‘แบตเตอรี่’ คิดเป็นสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนรถ EV หนึ่งคัน
นับเป็นชิ้นส่วนที่แพงที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
แต่ถ้าดู ราคาขายปลีก ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคาสูงกว่านั้น
หากอ้างอิงราคาแบตฯ BYD ที่ BYD RÊVER Thailand ประกาศราคาขายเมื่อ 3 มีนาคม 2566 จะพบว่าราคาแบตฯ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 48% ของราคารถ
48% ดังกล่าวมาจากการคำนวณราคา
- 528,730 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม), แบตเตอรี่ (Blade Battery) รุ่น Standard 410 km
- 1,099,900 บาท, รถยนต์ไฟฟ้า BYD ATTO 3 รุ่น Standard Range

พูดง่ายๆ แบตเตอรี่มีมูลค่าคิดเป็น ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะ BEV (Battery Electric Vehicle) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิง 100%
“ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า คือ แบตเตอรี่”
BYD RÊVER Thailand ย้ำข้อเท็จจริงนี้ผ่านข้อความประกาศราคาแบตฯ BYD
ขณะที่ชิ้นส่วนในพาร์ทอื่นๆ ของรถยนต์ไฟฟ้านั้น ‘เรียบง่าย’ ทั้งในความหมายของความ ‘เรียบ’ และความ ‘ง่าย’ เมื่อเทียบกับรถน้ำมัน (รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน - Internal Combustion Engine: ICE)
ข้อมูลจาก Ernst & Young Global ระบุว่า จำนวนชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนรถ EV มีอยู่ราวๆ 20 ชิ้น ขณะที่รถน้ำมันมีเกือบ 2,000 ชิ้น

ชิ้นส่วนรถ EV ที่น้อยกว่ารถน้ำมันถึง 100 เท่า ไม่ใช่แค่จำนวนตัวเลขที่ต่างกัน แต่อาจหมายถึงจุดจบของยานยนต์โลกเก่า
“เราเรียกมันว่าการ ดิสรัปชั่น การมาถึงของเทสล่า (และรถยนต์ไฟฟ้า--ผู้เขียน) กำลังส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดียวกับที่ Apple มีต่อ Nokia เมื่อ 20 ปีที่แล้ว”
เอนริเก้ แดน (Enrique Dan) นักวิชาการด้านนวัตกรรมชาวสเปน ผู้เขียนหนังสือ Todo va a cambiar (Everything is going to change) ตั้งข้อสังเกตว่า การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์แบบเก่าหายไป โดยหนึ่งในเหตุผลนั้นเกี่ยวข้องกับ ‘ชิ้นส่วน’ และ ‘ระบบขับเคลื่อน’ ของรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่กันคนละโลกกับรถน้ำมัน
เอนริเก้มองว่า เครื่องยนต์สันดาปภายในอาจเป็นความสำเร็จทางวิศวกรรม แต่การสร้างและบำรุงรักษามีราคา ตรงกันข้ามกับเทสล่า (และรถยนต์ไฟฟ้า--ผู้เขียน) ต้นทุนการสร้างต่ำกว่า เพราะ...
- มีชิ้นส่วนไม่มาก
- ประสิทธิภาพดีกว่า
- อัตราเร่งดีกว่า
- น้ำหนักเบากว่า
- ต้องการบำรุงรักษาน้อยกว่า
- ค่าใช้จ่ายในการใช้งานต่ำกว่า
กล่าวโดยรวบรัด การผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนถูกกว่ารถน้ำมัน แต่มีประสิทธิภาพดีกว่า ทั้งในแง่การใช้งาน และประหยัดค่าใช้จ่าย
เห็นได้ชัดจากการลดราคาของเทสล่าหลายระลอกในปีนี้ เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดจากค่ายรถ EV จีนที่เปิดฉากสงครามราคา จูงใจคนให้หันหลังจากรถน้ำมันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และหวังขึ้นเป็นผู้นำตลาด EV โลก
ปี 2023 นับเป็นปฐมบทแห่งการขับเคี่ยวยานยนต์ EV ทั่วโลก เห็นได้ชัดจากค่ายรถญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่อย่าง โตโยต้า ที่เคยเมิน EV ประกาศชัดว่ากำลังพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า Lexus LF-ZC ที่วิ่งได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร โดยมีกำหนดออกสู่ตลาดในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2026)
จุดที่น่าสนใจคือ ราคารถ EV ที่เห็น ‘ราคาดี’ วันนี้ ในวันหน้าจะ ‘ถูกลง’ กว่านี้อีก ส่วนหนึ่งเพราะต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ถูกลงทุกวัน
CNET รายงานเมื่อกันยายนที่ผ่านมาว่า ราคาแบตเตอรี่ Lithium-ion (ชิ้นส่วนที่แพงที่สุดของรถ EV) ลดลงมากกว่า 30% ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2022 โดยระบุตอนหนึ่งว่า
สิบปีที่แล้ว, แบตเตอรี่ lithium-ion ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 668 ดอลลาร์สหรัฐ / kWh
มีนาคม ปี 2022, ราคาลดเหลือ 146.60 ดอลลาร์สหรัฐ / kWh
สิงหาคม ปี 2023, ลดลงอีก 30% เหลือ 98.20 ดอลลาร์สหรัฐ / kWh
“ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ราคาแบตเตอรี่ Lithium-ion ลดลงกว่า 80% ในอนาคตเราจะเห็นต้นทุนลดลง และประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้รถน้ำมันเดินไปสู่การสูญพันธุ์”
เจราร์ด รีด (Gerard Reid)
เจราร์ด รีด (Gerard Reid) นักวิเคราะห์ด้านพลังงานมองว่า การปฏิวัติพลังงานและการขนส่งในโลกจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
ลองจินตนาการถึง พ.ศ.2567 ที่มาตรการ EV 3.5 ของรัฐบาลเศรษฐามีผลบังคับใช้ เงื่อนไขและเงินอุดหนุนที่จูงใจทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิต บวกกับการแข่งขันของค่ายรถต่างๆ ที่มีแนวโน้มดุเดือดกว่าปีนี้ จะกระตุ้นตลาด EV ในประเทศคึกคักแค่ไหน

ยิ่งเวลาผ่านไป คนที่คิดจะถอยรถคันใหม่ ลังเลที่จะย้ายไป EV น้อยลงทุกวัน
ราคาน้ำมันยังคงแพง รถ EV เสนอราคาขายสูสีหรือถูกกว่าเมื่อเทียบกับรถน้ำมัน สงครามราคาที่ส่อเค้าดุเดือดกว่าเดิม ต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มลดลงตามหลัก economies of scale (ยิ่งผลิตเยอะ ต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตยิ่งถูกลง)
อย่าลืมว่า ต้นทุนราคาแบตเตอรี่ และราคา EV ที่ขายกันวันนี้
ยังถูกลงได้อีกในอนาคต