TDRI เปิดงานวิจัย โอกาสของคนอยากลงทุนในตลาดหุ้น

28 ม.ค. 2568 - 06:34

  • ทีดีอาร์ไอ เผยผลสำรวจ ‘การลงทุนในตลาดหุ้น’ บ่งชี้คนไทยส่วนใหญ่มอง ‘ตลาดทุน’ เป็นเรื่องที่ ‘ไกลตัว’ และไม่สนใจลงทุน

  • เหตุเพราะ ‘ไม่รู้จัก’ และ ‘กลัว’ การต้องเผชิญความเสี่ยง ‘ขาดทุน’

  • ทั้งที่เป็นการออมในรูปแบบหนึ่ง สามารถให้ผลตอบแทนระยะยาวได้ หากลงทุนอย่างถูกต้อง

tdri-research-opportunity-people-want-invest-stock-market-SPACEBAR-Hero.jpg

สพล ตัณฑ์ประพันธ์ นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ เปิดงานวิจัย แผ้วถางเส้นทางลงทุน: แนวนโยบายสำหรับคนไกลตลาดทุน โดยแจกแจงข้อมูลการสำรวจที่บ่งชี้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ มองว่า ‘ตลาดทุน’ เป็นเรื่องที่ ‘ไกลตัว’ และไม่สนใจลงทุน เพราะ ‘ไม่รู้จัก’ หรือมีความรู้สึก ‘กลัว’ กับการเผชิญความเสี่ยงว่าจะขาดทุน ทั้งที่การลงทุนในตลาดทุนถือเป็นการออมในรูปแบบหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีหากลงทุนอย่างถูกต้อง

คำถามสำคัญ จะทำอย่างไรให้ทุกคนสนใจและสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ และ ‘ไม่เจ็บตัว’ จากการลงทุนเกินกว่าที่เจ้าตัวจะรับได้ ดังนั้น จึงควรมีการออกแบบนโยบายหรือมาตรการที่จะทำให้ ‘คนไกลตลาดทุน’ โดยเฉพาะรายเล็กรายน้อย ที่อาจมีรายได้ไม่มากนัก ให้ขยับเข้ามาใกล้ หรือกระทั่งเข้ามาลงทุนในตลาดทุนอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ทางการเงินในระยะยาว โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจกระบวนการตัดสินใจลงทุนในตลาดทุน เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนี้

คณะผู้วิจัย ทีดีอาร์ไอ ได้สร้างความเข้าใจนี้ผ่านการนำเสนอ ‘เส้นทางการเข้าสู่ตลาดทุน’ หรือ Investment Journey ที่อาจเปลี่ยนคนธรรมดาเดินดินที่ไม่ได้มีความสนใจลงทุนมาเริ่มลงทุนจนกลายเป็นผู้ลงทุนเป็นประจำ มีการกระจายสินทรัพย์ลงทุนอย่างเหมาะสม โดยในเส้นทางดังกล่าว จะระบุ ‘คอขวด’ ในแต่ละหมุดหมายของเส้นทาง  ที่อาจต่างกันออกไประหว่างแต่ละกลุ่มคน และเสนอมาตรการที่ช่วยบรรเทาปัญหาคอขวดดังกล่าว 

เส้นทางการลงทุนประกอบด้วย 4 หมุดหมายหรือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ (1) สนใจลงทุนหรือไม่ (2) มีเงินออมที่พร้อมเอามาลงทุนหรือไม่ (3) ศึกษาและเลือกสินทรัพย์ลงทุนได้เหมาะสมหรือไม่ (4) ตัดสินใจลงทุนหรือไม่ ลงทุนเป็นประจำหรือไม่

tdri-research-opportunity-people-want-invest-stock-market-SPACEBAR-Photo01.jpg

สนใจลงทุน

คนไกลตลาดทุนมักจะไม่มีความสนใจในตลาดทุน จึงจำเป็นต้องกระตุ้นหรือให้ความรู้ ความเข้าใจที่จะสร้างความสนใจ โดยอาจต้องโยงประโยชน์จากตลาดทุนไปที่เรื่องใกล้ตัวที่เขาให้ความสำคัญ เช่น ความมั่นคงทางการเงินจะทำให้เขาเป็นที่พึ่งให้แก่คนรัก และครอบครัวได้ (มีเงินเพียงพอเลี้ยงดูครอบครัวและบุพการี) คลายความกังวลกับการเกษียณ ช่วยรักษามูลค่าเงินในภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่อง และได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี (จากการซื้อกองทุนรวมประเภท SSF หรือ RMF Thai ESG Fund ที่เอามาลดหย่อนภาษีได้)

บางส่วนก็ไม่สนใจลงทุนเพราะเห็นว่าการลงทุนในตลาดทุนเป็นเรื่องซับซ้อน จึงควรแก้ไขเรื่องนี้โดยทำให้ช่องทางการลงทุนเป็นเรื่องง่าย และใกล้ตัวเขามากขึ้น ในปัจจุบันสามารถลงทุนในมือถือผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ หรือทางแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตังค์’ ได้

มีเงินออมพอ

คอขวดเรื่องเงินออมสำหรับคนไกลตลาดทุนมีสามเรื่องคือ 
1. มีความฝังใจว่าการลงทุนในตลาดทุนต้องใช้เงินมาก 
2. ไม่สามารถจัดการบริหารเงินตัวเองจนเหลือ ‘เงินเย็น’ มาลงทุนในตลาดทุนได้ และ
3. จัดสรรเงินไปลงทุนในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ตลาดทุน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทำให้ไม่เหลือเงินมาลงทุนในตลาดทุน

นโยบายสำหรับเรื่องแรกคือการสื่อสารให้ชัดว่าเป็นเรื่องไม่จริง ปัจจุบันการลงทุนหลายเรื่องใช้เงินน้อยมาก ในหลักร้อยบาทเท่านั้น อาจเสริมด้วยการ ‘เล่าเรื่อง’ ของนักลงทุนรายย่อยตัวจริงที่มีชีวิตความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับคนไกลตลาดทุน เช่น เป็นพนักงานทำความสะอาด เป็นต้น 

สำหรับเรื่องการบริหารจัดการเงิน เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องส่งเสริมอย่างจริงจัง เพราะแก้ปัญหาสำคัญ ๆ เช่นการเพิ่มการออม การลดหนี้ครัวเรือน และการมีเงินเหลือมาลงทุน มีมาตรการหลายเรื่องที่สามารถทำได้ (อ่านเพิ่มเติมได้จากหลายบทความของ TDRI) ส่วนการจัดสรรเงินลงทุนนั้น ควรทำความเข้าใจเรื่องประโยชน์จากการกระจายลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ไม่ควรทุ่มเงินออมทั้งหมดในสินทรัพย์เดียวเท่านั้น 

ศึกษาและเลือกสินทรัพย์ลงทุน

การจะลงทุนให้ได้ประโยชน์ และไม่สุ่มเสี่ยงเกินไปจนอาจกระทบเงินออมระยะยาวนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาการลงทุนอย่างเพียงพอ สามารถทำการเลือกสินทรัพย์ที่ตรงกับความสามารถในการรับความเสี่ยง เหมาะกับความชอบ ผู้ที่ตัดสินใจลงทุนมักจะตัดสินใจลงทุนเมื่อมั่นใจระดับหนึ่งถึงความรู้ของตนเอง (ซึ่งอาจจะมาจากการศึกษาเอง หรือรับฟังจากคนอื่นอีกที) นโยบายในเรื่องนี้จึงต้องเน้นการให้ความรู้ที่ถูกต้อง มีหลากหลายช่องทางและหลากหลายเนื้อหา เพื่อให้ผู้จะลงทุนเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้ มีระบบการควบคุมการเผยแพร่ความรู้ที่ไม่ถูกต้อง การหลอกลวงต่าง ๆ เป็นต้น 

นอกจากความรู้แล้ว ทัศนคติต่อการลงทุนในตลาดทุนก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนว่ามีความเสี่ยงเสมอ ต้องสามารถยอมรับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหลังจากมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมแล้ว 

เริ่มลงทุนและลงทุนเป็นประจำ

เป้าหมายสุดท้ายเชิงนโยบายสำหรับคนไกลตลาดทุน คือพวกเขาพร้อมและเริ่มเข้ามาลงทุน ได้รับประโยชน์อันพึงได้ จนนำไปสู่การเป็นนักลงทุนประจำ โดยช่วงเริ่มต้น อาจเป็นการลองชิมลาง ด้วยจำนวนน้อย และถือระยะสั้น จนเกิดการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนอกเหนือจากนโยบายการกระตุ้นความสนใจ (หรือรักษาระดับความสนใจไม่ให้ลดน้อยลง) การบริหารจัดการเงิน การให้ความรู้แล้ว อีกนโยบายที่จำเป็นคือการปกป้องนักลงทุนรายย่อย ไม่ให้เสียเปรียบนักลงทุนรายใหญ่ สามารถรักษาตัวจากการ ‘ปั่นหุ้น’ ได้

โดยสรุป ในเส้นทางการเข้าสู่ตลาดทุนของคนไกลตลาดทุนนั้น ความสนใจ ความพร้อม และความรู้ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ นโยบายที่ช่วย ‘แผ้วทาง’ บนเส้นทางนี้ต้องมีความเหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ผู้ออกแบบนโยบายต้องมีความเข้าใจในบริบทของสังคมไทย ตลาดทุน และจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง หากไม่สามารถทำได้จะนำไปสู่ปัญหารายทาง เช่น การเรียนรู้ยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชา เนื้อหาที่เรียนมา ไม่สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง ส่งผลให้แม้จะสามารถดึงคนมาตลาดทุนได้แล้วก็อาจจะล้มเลิกไป ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ดี และทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์