นายปิยสวัสด์ อัมมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เผยผลการประชุมเจ้าหนี้ของ THAI (29 พ.ย.67) ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอทั้ง 3 วาระ โดยในประเด็นการเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ อีก 2 ราย มีคะแนนใกล้เคียงกันมาก โดย...
วาระที่ 1 ให้อำนาจแก่ผู้บริหารแผน ‘ลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value)’ เพื่อนำไปล้างขาดทุนสะสม เห็นชอบ 87% หรือคิดเป็นมูลหนี้ 96,450 ล้านบาท และไม่เห็นชอบ 13% คิดเป็นมูลหนี้ 14,347 ล้านบาท รวมจำนวนหนี้ 110,797 ล้านบาท
วาระที่ 2 ให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้ มีผู้เห็นชอบ 86% มูลหนี้ 94,482 ล้านบาท และไม่เห็นชอบ 14% มูลหนี้ 14,939 ล้านบาท รวมจำนวนหนี้ 109,421 ล้านบาท
วาระที่ 3 เพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 คน คือนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง โดยวาระนี้มีเจ้าหนี้รวมมูลหนี้ 107,552 ล้านบาท เห็นชอบ 50.4% มูลหนี้ 52,210 ล้านบาท และไม่เห็นชอบ 49.6% มูลหนี้ 53,341 ล้านบาท
ปิยสวัสดิ์ ชี้ ขั้นตอนต่อไป THAI จะเสนอผลการประชุมเจ้าหนี้ต่อศาลล้มละลายกลาง โดยศาลฯ ได้นัด 12 ธันวาคม 67 นี้ เพื่อให้ความเห็นชอบผลการประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งนายปิยสวัสดิ์ คาดว่าจะมีเจ้าหนี้ที่ลงมติไม่เห็นชอบ ยื่นคัดค้านทั้ง 3 เรื่อง และศาลฯ จะต้องนัดไต่สวนต่อไป
ปช.เจ้าหนี้การบินไทย ตีความ ‘คลัง’ เจ้าหนี้ฯ THAI หรือไม่?
มีรายงานระบุว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งนี้ มีตัวแทนจากสหกรณ์ออมทรัพย์สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ได้สอบถามว่า สถานะของกระทรวงการคลังเป็นอย่างไร ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่จดทะเบียนใหม่ของ THAI เพราะฉะนั้นก็ยังมีสิทธิโหวต
พร้อมกับมีเสียงแย้งจาก ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย THAI ที่ระบุว่า ภาระหนี้ของกระทรวงการคลังยุติเมื่อแปลงหนี้เป็นทุนเมื่อ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่ผู้บริหารแผนฯ ได้มีมติไปเมื่อ 25 พฤศจิกายน ในการ**แปลงหนี้เป็นทุนของกระทรวงการคลังทั้ง 100%**ส่วนเจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้หุ้นกู้แปลงหนี้เป็นทุน 25% ในส่วนภาคบังคับ และในส่วนภาคสมัครใจก็มีการแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมด้วย
ซึ่งต่อมาผู้บริหารแผนฯ ได้ยื่นรายละเอียดการแปลงหนี้ฯ ที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หลังจากนั้นก็ยื่นไปที่ศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน และวันที่ 27 พฤศจิกายน ศาลฯ ก็มีคำสั่ง ต่อมาก็ส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อจดทะเบียนทุนใหม่
“มีความเห็นแตกต่างกัน นักกฎหมาย บางท่านก็ตีความว่า กระทรวงการคลังไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ THAI ตั้งแต่ผู้บริหารแผนมีมติแล้ว แต่บางรายก็มองว่า กระทรวงการคลังพ้นจากการเป็นเจ้าหนี้ในวันที่ศาลฯ มีคำสั่ง หรอคือ 27 พฤศจิกายน แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ กลับชี้ขาดให้กระทรวงการคลังโหวตได้”
นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสด์ กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลัง ตีความว่ายังคงสถานะเป็นเจ้าหนี้ เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนใหม่หลังแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งเป็นที่มาของการที่กระทรวงการคลังขอให้กระทรวงพาณิชย์ ชะลอการจดทะเบียนใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าจะเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไป และคงต้องให้ศาลฯ เป็นผู้พิจารณา
อย่างไรก็ตาม คาดว่าประเด็นนี้จะไม่กระทบกับแผนฟื้นฟูของการบินไทย โดยมีกำหนดยื่นออกจากแผนในไตรมาส 2/68 แต่สิ่งสำคัญคือต้องการให้มีการลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะม ไม่ให้มีผลต่องบกำไรขาดทุน เพื่อให้จ่ายเงินปันผลได้ ไม่เช่นนั้นต้องรออีก 10 ปี
“หากออกจากแผนแล้วค่อยไปลดพาร์จะมีความยุ่งยากมากกว่า เพราะฉะนั้นก็ยังมีเวลาหลายเดือนสามารถให้ศาลวินิจฉัยเห็นชอบออกจากแผน เบื้องต้นเห็นว่าขั้นตอนการลดพาร์ไม่ควรเกินเดือน มี.ค.68 โดยประเด็นลดพาร์และจ่ายเงินปันผล คาดว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ธนาคารแห่งหนึ่ง”
นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ปิยสวัสดิ์ ห่วง ขายหุ้นเพิ่มทุนอาจสะดุด ทำได้เงินไม่ตามคาด
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า จากการเพิ่มผู้บริหารแผน 2 ราย ที่มาจากภาครัฐเป็นสัญณาณว่าการบินไทยจะถูกครอบงำและแทรกแซงจากภาครัฐเช่นเดียวในอดีต โดยกุมเสียง 3 ใน 5 จึงคาดว่าน่าจะมีผลกระทบการขายหุ้นเพิ่มทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่เป็น High Net Worth เพราะเป็นประเด็นที่วิตกกังวลมากที่จะมีการครอบงำ แทรกแซงจากรัฐ
“น่าเป็นห่วง การขายหุ้นเพิ่มทุนอาจจบไม่สวย ไม่ได้เงินเท่าที่ควร กลุ่มนักลงทุน High Net Worth ไม่เกิน 50 ราย แสดงความวิตกเรื่องนี้มาก ช่วงทำโรดโชว์หลายครั้งกับผู้ถือหุ้นเดิมก็มีคำถามถึงบทบาทภาครัฐที่มีต่อการบินไทยในระยะต่อไป ซึ่งทุกคนกลัวมาก ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ รวมถึงมีผลกระทบต่อความมั่นใจในการเลือกกรรมการบริษัทด้วยที่จะบริหารบริษัทต่อไป”
นายปิยสวัสดิ์ กล่าว