ประชุมเจ้าหนี้ THAI ลุ้นโหวต Yes-No เพิ่ม 2 ผบห.แผนฟื้นฟูฯ

29 พ.ย. 2567 - 04:19

  • การบินไทย อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการมากว่า 3 ปี ตามคำสั่งศาลล้มละลาย

  • ที่ผ่านมาได้ตั้งคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ 3 คน ทำงานร่วมกับพนักงาน จนวันนี้มีกำไร และกำลังก้าวสู่จุดสำคัญ-ปลดล็อกออกจากแผนฟื้นฟู

  • จับตา ‘การเมืองแทรก’ คลังขอโหวตเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ 2 คน วันนี้ โหวต Yes or No

thai-airways-meeting-add-2-rehabilitation-plan-administratorsa-SPACEBAR-Hero.jpg

บมจ.การบินไทย (THAI) กำลังเป็น ‘เค้กที่ส่งกลิ่นหอม’ อีกรอบใช่หรือไม่? เพราะภายหลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 มาจนถึงวันนี้ สร้างผลการดำเนินงานที่สวยงาม โดยกลับมามีกำไร จากการดำเนินงาน ก่อนหักค่าเสื่อมราคา หรือ EBITDA กว่า 24,000 ล้านบาท เข้า 1 ใน 2 เงื่อนไข ที่จะปลดล็อกออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้แล้ว!!! 

แต่แล้ววันนี้ (29 พฤศจิกายน 2567) เป็นอีกวันที่ชาวการบินไทยหวาดหวั่น ‘การเมืองแทรกแซง’ หลังมีการประชุมเจ้าหนี้ (ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ) ที่เลื่อนมาจากกำหนดเดิม 8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ด้วยวาระที่เจ้าหนี้ ‘กระทรวงการคลัง’ และในฐานะผู้ถือหุ้นหลัก ได้เสนอขอ ‘เพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 ราย’ คือ นายปัญญา ชูพานิช และ นายพลจักร นิ่มวัฒนา

สำหรับการประชุมเจ้าหนี้การบินไทยวันนี้ เป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ มีวาระสำคัญในที่ประชุมสำหรับการพิจารณา ประกอบด้วย การพิจารณาลดมูลค่าหุ้น หรือ Par Valueเพื่อล้างผลขาดทุนสะสมหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนแปลงหนี้เพิ่มทุน และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้กับเจ้าหนี้ตามลำดับ ในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท การขอพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู รวมถึงขอมติที่ประชุม โหวตเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยทางกระทรวงการคลัง ได้เสนอ ขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 2 ราย จากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ได้แก่ 1.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ 3 ของการบินไทย

ก่อนหน้านี้ในการประชุมผู้ถือหุ้นการบินไทยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติโหวตให้เลื่อนการประชุมเจ้าหนี้ ออกไปเป็นวันที่ 29 พฤศจิกายน เนื่องจากวาระที่มีการเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพิ่ม 2 คน ที่เป็นตัวแทนจากระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ทางเจ้าหนี้มองว่า เป็นการแจ้งกระชั้นชิดเกินไป โดยแจ้งล่วงหน้าเพียง 3 วัน ทางเจ้าหนี้ในแต่ละกลุ่มต้องใช้เวลาในการหารือ จึงขอหารือให้มีการโหวตเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้ออกไปก่อน ด้วยมติเสียง 56 : 43  โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นวันนั้น มีเจ้าหนี้เข้ารวมประชุมหลักร้อยกว่าราย รวมมูลค่าหนี้ 8 หมื่นกว่าล้านบาท จากจำนวนเจ้าหนี้ทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลัง ระบุเหตุผลของการเสนอวาระพิจารณาการเพิ่ม 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ว่า การบินไทยอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กำหนดให้มีผู้บริหารแผนจำนวน 5 ราย ขณะที่การดำเนินงานปัจจุบันคงเหลือผู้บริหารแผน จำนวน 3 ราย และในช่วงเวลาที่เหลือก่อนออกจากแผนฟื้นฟู การบินไทยมีเรื่องต้องตัดสินใจสำคัญหลายเรื่อง จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพิจารณา และเชื่อมโยงผู้ถือหุ้น

ดังนั้น วาระการโหวตเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นที่จับตามองพอสมควร โดยทางเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ กับเจ้าหนี้ฝั่งกระทรวงการคลังและภาครัฐ จะต้องแข่งขันโหวต ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากทางเจ้าหนี้บางกลุ่ม และสหภาพแรงงานการบินไทย ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหนี้โหวตไม่เห็นชอบ หรือโหวด NO เพื่อไม่ผ่านวาระดังกล่าว

ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ. การบินไทย หรือ THAI เปิดเผยว่า สัดส่วนการเพิ่มกรรมการ จากภาครัฐ นั้นถ้าผ่านมติ ก็จะทำให้มีคณะกรรมการ 5 คน ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจต่างๆในการบริหารก็คงจะยากขึ้นจากเดิมที่มีเพียงกรรมการบริหาร 3 คน และอาจใช้ระยะเวลานานขึ้นเช่นกัน ในการตัดสินใจต่างๆ แต่ถ้าการเสนอคณะกรรมการ เพิ่มเป็น 5 คนไม่ผ่านมติก็ ถือว่าจบ ก็จะเหลือกรรมการ 3 คนตามเดิม

ทั้งนี้ การเข้าสู่การประชุมผู้ถือหุ้น หลังออกจากแผนฟื้นฟูนั้น ภาครัฐอาจจะมีกรรมการเข้ามาเพิ่มได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐ เนื่องจากการประชุมผู้ถือหุ้นก่อนออกจากแผนฟื้นฟู กำหนดสิทธิให้เลือกกรรมการได้ ซึ่งตามข้อบังคับบริษัทจะมีกรรมการได้ไม่เกิน 15 คน

อย่างไรก็ตาม นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการรักษาสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อมีอำนาจในการบริหาร จะส่อแววว่า การบินไทย จะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น ตนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เนื่องจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะทางการเมือง หรือ ทางการบินไทยเอง ต่างเห็นด้วยและประกาศชัดเจนว่า การบินไทย ไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะการเป็นรัฐวิสาหกิจจะทำให้การทำงานยุ่งยากไปหมด

แต่ประเด็นที่สำคัญที่ค่อนข้างห่วงพอสมควรคือ หากรัฐมีสัดส่วนบทบาทอำนาจเข้ามาแทรกแทรงในการบริหารมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทยได้พอสมควร

สำหรับคณะผู้บริหารแผนปัจจุบัน 3 คน ประกอบด้วย
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย 
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย และ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง ในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด​ (มหาชน) แจ้งว่า ภายหลังจากบริษัทฯ ได้เริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างทุน เปิดให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงหนี้ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายนนั้น ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลังทราบว่ามีการแปลงหนี้ตามสิทธิ 100%

แต่อย่างไรก็ตามภายหลังกระบวนการแปลงหนี้แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน การบินไทยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัท อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนของแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการ ขณะนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้ชะลอการจดทะเบียนไว้หลังวันที่ 29 พฤศจิกายน

ซึ่งผลที่ตามมาจากการจดทะเบียนล่าช้านั้น ส่งผลกระทบทางการเงินต่อการบินไทย คือค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ วันละ 2 ล้านบาท ซึ่งการบินไทย คงจะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งต่อไป

เบื้องต้นเตรียมยื่นฟ้องนายทะเบียน พนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันส่งผลเสียหายแก่บริษัท

หาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทแล้วเสร็จ ก็จะมีผลทำให้กระทรวงการคลังไม่เป็นเจ้าหนี้การบินไทย และกลับสู่สถานะการเป็นผู้ถือหุ้น เพราะปัจจุบันกระทรวงการคลังแปลงหนี้ทั้งหมด 100% แล้ว และเมื่อไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ก็จะไม่มีสิทธิในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟู

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการประชุมเจ้าหนี้ในวันนี้ น่าจะมีการหยิบยกประเด็นการพิจารณาสถานะเจ้าหนี้ของกระทรวงการคลังมาหารือ เพื่อพิจารณาใช้สิทธิการเป็นเจ้าหนี้โหวตแก้ไขแผนฟื้นฟู โดยหากที่ประชุมเจ้าหนี้จะหยิบเรื่องนี้มาถกกันก็คงต้องอยู่ที่ดุลพินิจการพิจารณาของเจ้าหนี้ทั้งหมด หรือท้ายที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลในการพิจารณาตีความการเป็นเจ้าหนี้ของกระทรวงการคลัง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์