นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยความคืบหน้าการขายเครื่องบินที่ปลดระวาง ว่า ขณะนี้ได้เจรจาซื้อขายเครื่องบินปลดระวางทั้งหมดจำนวน 18 ลำแล้ว โดยลงนามทำสัญญาแล้วเสร็จ ประกอบด้วย เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ ส่วนที่อยู่ระหว่างเจรจาทำสัญญา มีโบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ ส่งผลให้ในงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2567 การบินไทยมีการบันทึกการด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียนอยู่ที่ 3,338 ล้านบาท
การบันทึกด้อยค่าครั้งนี้ ถือว่าเป็นการบันทึกด้อยค่าจำนวนสูงสุดของปีนี้แล้ว แต่ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ การบันทึกด้อยค่าจะลดลง เหลือเพียงบันทึกด้อยค่าจากอุปกรณ์การบิน เครื่องยนต์ที่ไม่ได้ใช้ เนื่องจากเครื่องบินปลดระวาง 12 ลำได้ขายหมดแล้ว สำหรับการขายเครื่องบินที่ปลดระวาง ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการบินไทยได้ดำเนินการแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถยื่นกลับซื้อขายหลักทรัพย์ และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามเป้าหมายในปี 2568 หลัง EBITDA เป็นบวกต่อเนื่อง สะสมมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนสินทรัพย์ประเภทสำนักงานที่เหลือ มีที่ฮ่องกง 2 แห่ง สำนักงานขายของการบินที่ จ.เชียงใหม่ สำนักงานขายของการบินไทยที่ จ.พิษณุโลก รวมทั้งหมดจำนวน 4 แห่ง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประกาศขาย
อย่างไรก็ตาม ในด้านจำนวนเครื่องบินนั้น ปัจจุบันการบินไทยและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 73 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 8 ลำ หรือเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 เท่ากับ 3 ลำ โดยเป็นการทยอยรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ที่จัดหาและนำมาปฏิบัติการบินระหว่างปี มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.8 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.1% ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ สามารถเพิ่มความถี่ในจุดบินที่มีศักยภาพได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 การบินไทยและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,423 ล้านบาท และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินจำนวน 14,054 ล้านบาท
ส่วนไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ยังมีปัจจัยบวกมาจากการเดินทางในเส้นทางจีน ที่ผู้โดยสารมีความต้องการมาก อานิสงค์มาจากนโยบายวีซาฟรี และเส้นทางอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่การบินไทยมีอัตรการเดินทางมากที่สุด การบินไทยยังเตรียมเพิ่มความถี่ในเส้นทางเซี่ยงไฮ้ และเส้นทางปักกิ่ง ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งปัจจุบันการบินไทย บินในจีน 5 เมือง
นอกจากนี้ จะเพิ่มความถี่เส้นทางในออสเตรเลีย ทั้งซิดนีย์, เมลเบิร์น และเพิร์ท ส่วนเส้นทางยุโรป จะกลับมาทำการบินในเส้นทางออสโลและมิลาน ซึ่งในปลายปีนี้จะเพิ่มเส้นทางบินไปยังบรัสเซลส์ และอัมริตสาร์ ของอินเดีย
“ปัจจุบันผลการดำเนินงานของการบินไทยเป็นบวกต่อเนื่อง 6 ไตรมาสแล้ว เป็นตัวเลขที่ดีกว่าในแผนฟื้นฟู แต่จุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงมองว่าอุปกรณ์ที่ให้บริการยังเป็นจุดอ่อน ปัญหาของอุปกรณ์อยู่ในกระบวนการที่กำลังแก้ไข อะไหล่ต่าง ๆ ที่อยู่บนเครื่องบินยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข ต่อให้มีอำนาจการต่อรองกับเวนเดอร์ แต่ไม่ถึงกับมีอำนาจต่อรองสูงขนาดนั้น แต่มีการต่อรองให้มีการปรับปรุงอะไหล่เก้าอี้ มีมาตรการปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคต”
นายชาย กล่าว
นายชาย ยังชี้แจงประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียลฯ กรณีผู้โดยสารสายการบินไทยพบปัญหาเบาะที่นั่งโดยสารชำรุด ไม่สามารถปรับเอนนอนได้ โดยยอมรับว่า มีจำนวน 8 ลำ ได้แก่ แอร์บัส A350 จำนวน 4 ลำ และโบอิ้ง 777-200ER จำนวน 4 ลำ ยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และอยู่ระหว่างประสานผู้ผลิตเพื่อเร่งจัดส่งอะไหล่และซ่อมบำรุง แต่ต้องยอมรับว่า ขณะนี้หลายสายการบินใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกัน และต้องการอะไหล่เพื่อซ่อมบำรุงในลักษณะเดียวกัน จึงทำให้บริษัทฯ ต้องรอคิวจัดหาอะไหล่
เบื้องต้น ได้ปรับเปลี่ยนเครื่องบินที่มีปัญหาไปให้บริการเฉพาะเที่ยวบินที่มียอดจองการเดินทางไม่สูงมากนัก และจะบล็อคที่นั่งชำรุด ไม่ทำการขายเพื่อให้บริการผู้โดยสาร คาดว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้