ยอดใช้ไฟทะลุ 36,000 MW ไฟฟ้าสำรองเหลือแค่ 20%

29 เม.ย. 2567 - 10:13

  • อากาศร้อนเดือนเมษายน ทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้าต่อเนื่อง

  • ปริมาณการไฟฟ้า Peak ถึง 8 ครั้ง และจะตามมาต่อเนื่อง

  • ส่งผลให้กำลังไฟฟ้าสำรองของไทยเดือนเมษา ลดลงมาอยู่ที่ 20%

ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของระบบ กฟผ. 2567-SPACEBAR-Hero.jpg

หน้าร้อนปีนี้ ร้อนแรงและร้อนนานกว่าทุกปี  ทำให้สถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบของ กฟผ. ,กฟน. และ กฟภ. หรือ System Peak ถูกทำลายแบบถี่ยิบ

เฉพาะเดือนเมษายนเดือนเดียวเกิด Peak ถึง 8 ครั้ง ล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เวลา 20.51 น. ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ในระบบ เท่ากับ 36,356.1 เมกะวัตต์ และจะมี Peak ที่ 9 ที่ 10 ฯลฯ ตามมาติดๆ แน่นอน เพราะกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า อากาศจะร้อนไปถึงสัปดาห์ที่ 2  ของเดือนพฤษภาคม 

ปีที่แล้วความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เกิดขึ้นวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. มีค่าเท่ากับ  34,827 เมกะวัตต์ ปีนี้เพิ่มขึ้น 1,529.1 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 4.4 % 

ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในเดือนเมษายนปีนี้ทำให้ไฟฟ้าสำรอง ( Reserve Margin )ของไทย เท่ากับ 20 % เท่านั้น

(ไฟฟ้าสำรอง = กำลังไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ ลบด้วย PEAK หาร กำลังไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ คูณ 100)

ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา (Contract Capacity) ประมาณ 52,566 เมกะวัตต์  กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ (Dependable Capacity )45,255  เมกะวัตต์

กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาคือ  ‘กำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกประเภทรวมกัน’  แต่ในทางปฏิบัติโรงไฟฟ้าพลังงาน ‘หมุนเวียน’ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา หรือผลิตไฟฟ้าได้ทันทีที่มีความต้องการเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ตอนกลางคืน กลางวันถ้าไม่มีแดด ก็ไม่มีไฟ โรงไฟฟ้าพลังลม ถ้าไม่มีลม หรือลมแรงไม่พอ ก็ไม่มีไฟ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ หน้าแล้ง น้ำแห้ง ต้องเก็บน้ำไว้เพื่อการชลประทาน งดปั่นไฟ   

โรงไฟฟ้าที่มีความพร้อม ผลิตไฟฟ้าได้ 24  ชั่วโมง คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ

ดังนั้นการคำนวณไฟฟ้าสำรอง ‘ต้องใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้’ คือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลบวกกับกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหมุนเวียนที่ผลิตได้จริง เป็นฐานในการคำนวณ 

ไม่ใช่นำกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งหมด มาคำนวณหาไฟฟ้าสำรอง ซึ่งทำให้ตัวเลขไฟฟ้าสำรองสูงกว่าความเป็นจริงคือ สูงถึง 50 %

ในช่วง 3 ปีที่เกิดโควิด ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลง เพราะเศรษฐกิจหยุดนิ่ง ธุรกิจปิดตาย  ตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ต่ำกว่าประมาณการ ถูกเอ็นจีโอ บางกลุ่ม และพรรคการเมืองบางพรรคบิดเบือนว่า รัฐวางแผนผลิตไฟฟ้ามากเกินไป เพราะต้องการเอื้อกลุ่มทุน 

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ความต้องการใช้ไฟฟ้าเริ่มสูงขึ้นจนกลับมาสูงกว่าความต้องการก่อนหน้าโควิด และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจนทำให้ ‘ไฟฟ้าสำรองลดลงเหลือแค่ 20 %’ เพราะสาเหตุที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าแผน เป็นปัจจัยเหนือความคาดหมายคือ โควิด ไม่ใช่เพราะวางแผนผิดพลาด หรือเอื้อกลุ่มทุน 

โรงไฟฟ้า โรงหนึ่งใช้เวลาสร้าง 6-7 ปี หากประเทศไทยไม่มีการวางแผนลงทุนผลิตไฟฟ้าล่วงหน้า เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต รอจนความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น  หรือไฟดับจึงค่อยสร้าง ถึงหน้าร้อนเมื่อไร จะเกิดไฟดับในวงกว้างบ่อยๆ เพราะไฟฟ้าไม่พอใช้อย่างแน่นอน และรัฐบาลจะถูกกล่าวหาว่า ทำไมไม่วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าแต่เนิ่นๆ รอให้ไฟดับจึงคิดสร้างโรงไฟฟ้า

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์