การบินไทยยูนิฟอร์มใหม่ ถูกใจสาย Green เริ่มใช้ 1 ม.ค. 2567

27 ตุลาคม 2566 - 07:06

การบินไทยยูนิฟอร์มใหม่ ถูกใจสาย Green-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การบินไทยยึดแนวคิดเพื่อความยั่งยืน ปรับโฉมยูนิฟอร์มใหม่ ใช้วัสดุพลาสติกถึง 70%

  • เครื่องแบบชุดเรือนต้นไทย ตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิล แต่ยังคงไว้ซึ่งความงดงามในความเป็นไทย

  • ย้อนอดีตสู่ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของยูนิฟอร์มการบินไทย

การบินไทยปรับโฉมยูนิฟอร์มใหม่ ยึดแนวคิดเพื่อความยั่งยื่น โดยยูนิฟอร์มใหม่ใช้เส้นใยที่ผลิตจากวัสดุพลาสติกรีไซเคิลถึง 70% ผสมผ้าไหมไทย 30% ทอเป็นเส้นใยและตัดเย็บเป็นชุดไทย เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

การบินไทยกับแนวคิดเพื่อความยั่งยืน

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่างๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

การบินไทยยูนิฟอร์มใหม่ ถูกใจสาย Green-SPACEBAR-Photo01.jpg

ซึ่งในงานแถลงข่าว FROM PURPLE TO PURPOSE มีการเปิดเผยว่าการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยยูนิฟอร์มใหม่ใช้เส้นใยที่ผลิตจากวัสดุพลาสติกรีไซเคิลถึง 70% ผสมผ้าไหมไทย 30% ทอเป็นเส้นใยและตัดเย็บเป็นชุดไทย จะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯกำหนดไว้

การบินไทยยูนิฟอร์มใหม่ ถูกใจสาย Green-SPACEBAR-Photo02.jpg
การบินไทยยูนิฟอร์มใหม่ ถูกใจสาย Green-SPACEBAR-Photo03.jpg

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้น

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่างๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ได้ถูกนำมาตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิล คงไว้ซึ่งความงดงามในความเป็นไทยที่เพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล

ย้อนอดีต-ปัจจุบันยูนิฟอร์มการบินไทย

ย้อนไปตั้งแต่แรกเริ่ม เครื่องแบบพนักงานต้อนรับภาคพื้นดินและบนเครื่อง เป็นสูทสั้นสีม่วงอัญชัน เสื้อตัวในและกระโปรงสีม่วงอ่อน มีหมวกสีเดียวกับชุดดูเก๋ไก๋ ด้วยสีสันอันงดงามของดอกกล้วยไม้ที่ประดับประปรายบนตัวเสื้อ สะท้อนถึงธรรมชาติอันตระการตาที่พบได้ในบรรยากาศของเมืองไทย ชุดไทยที่งดงามจากการตัดเย็บด้วยผ้าไหมสีสันสดสวย จึงได้รับความชื่นชมจากสายตาชาวโลกที่ได้พบเห็น โดยการออกแบบของหม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิไชยดีไซเนอร์ระดับแถวหน้าของไทยในยุคนั้น 

นอกจากนี้ยังมีดีไซเนอร์ระดับแถวหน้าอีกหลายคน ที่มาช่วยสร้างสรรค์ชุดสวยของการบินไทยให้มีความโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นห้องเสื้อพรศรี ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ปีแอร์ บาลแมง (Pierre Balmain) และสุชาติ มิ่งพันธ์ ในปี พ.ศ. 2549 พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์มาช่วยดูแลให้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบพนักงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานต้อนรับภาคพื้น และพนักงานประจำสำนักงานอื่นๆ

แนวคิดสำหรับเครื่องแบบใหม่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยได้รับอิทธิพลจากการแต่งกายในราชสำนัก และเครื่องประดับของตัวละครไทยโบราณ โดยประยุกต์ให้เข้ากับความโก้หรูและคลาสสิกของการบินไทย เน้นการตัดเย็บและตกแต่งด้วยวัสดุที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยทั้งหมดที่คุณภาพดี ได้มาตรฐานสากล ง่ายต่อการดูแลรักษา และผ่านการทดสอบคุณภาพมาตรฐานจากสถาบันสิ่งทอไทย

เครื่องแบบหญิง

มีเสื้อตัวในเป็นผ้าฝ้ายและโพลีเอสเตอร์ มีคุณสมบัติไม่ยับง่าย ซับเหงื่อ และสาหารถปรับตัวได้ดีในอากาศร้อนและเย็น ลายผ้าใช้ลวดลายกราฟิกที่ผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับความเป็นสากล ดูคล่องตัวด้วยความพลิ้วไหวของลายปีกนกสีม่วงชมพูและเหลืองทอง ซึ่งเป็นสีของการบินไทย นอกจากนี้ยังมีเครื่องแบบประจำฤดูกาล และเครื่องประดับอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการใช้งาน เช่น ผ้าพันคอ เข็มขัดที่มีพวงกุญแจ โอเวอร์โค้ต ผ้ากันเปื้อน และรองเท้า

เครื่องแบบชาย

ได้เปลี่ยนแปลงจากภาพลักษณ์แบบทหาร (Military Look) ให้เป็นแบบพลเรือน (Civilian Look) เพื่อความคล่องตัวในการบริการผู้โดยสาร ซึ่งเครื่องแบบที่ใช้นั้นเป็นสีเทาดำด้วยชุดเครื่องแบบที่ดูดีโก้หรู และสะท้อนความงดงามอย่างไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์