หอการค้าฯ หนุน ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตามกฎหมาย

12 ธ.ค. 2566 - 04:34

  • หอการค้าไทย ชี้ ค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 2-16 บาท คณะกรรมการไตรภาคี พิจารณาขึ้นตามกฎหมาย

  • ขณะที่การเห็นต่างของนายกฯ ซึ่งต้องการหนุนคนไทยรายได้เพิ่ม สามารถให้ข้อเสนอแนะ เพื่อ ก.แรงงาน ทบทวนปรับบางจังหวัดให้เหมาะสมได้

thaichamber-labor-minimum-wage-law-SPACEBAR-Hero.jpg

ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเรื่องต้องพิจารณา 3 ฝ่าย เพื่อความเป็นธรรม และการขับเคลื่อนประเทศ โดย พจน์  อร่ามวัฒนานนท์  รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ระบุ เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ที่อัตรา 2-16 บาท หรือเฉลี่ยที่ 3.2 % ทั่วประเทศ โดยมองว่า คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ในรูปคณะกรรมการไตรภาคี ที่ร่วมประชุมและสรุปเป็นมติออกมานั้น เป็นการพิจารณาที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกขณะนี้

ทั้งนี้ ในการพิจารณาค่าจ้าง เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น

โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับการพิจารณา จากปัจจัยหลายเงื่อนไขตามกฎหมายกำหนด และสอดคล้องกับ กฎบัตรองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ดังนั้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ปรับขึ้น 2-16 บาท จึงสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกแล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในส่วนของ นายกรัฐมนตรี ที่มีความเป็นห่วงลูกจ้าง อยากให้ลูกจ้างคนไทยมีรายได้ดีขึ้น และเห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดไม่เหมาะสมนั้น นายกรัฐมนตรี สามารถให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการไตรภาคี ทบทวนศึกษาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีในบางจังหวัดได้ให้เหมาะสมเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์