นิคมฯ อุดร ขอยกเป็น เขตส่งเสริม ศก.พิเศษ NeEC

12 ธ.ค. 2566 - 02:40

  • ผู้ประกอบการ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี วอนรัฐขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย คลุมพื้นที่นิคมฯ อุดรฯ เพื่อสิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการ

  • ชงส่งเสริม Logistics Park ในนิคมฯ ให้เป็น One Stop Service เชื่อมโยงบริการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ และพิธีศุลกากรในจุดเดียวเบ็ดเสร็จ

  • หวังจูงใจการลงทุนในพื้นที่ CLMVT

udonthani-industrial-estate-special-economic-zone-neec-clmvt-SPACEBAR-Hero.jpg

ด้วยเพราะโลเกชัน ‘นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี’ ซึ่งตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นประตูสู่ประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้ ผู้ประกอบการจึงใช้โอกาส การเยี่ยมเยือนของ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ‘วีริศ อัมระปาล’ ส่งข้อเสนอ “ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ยกระดับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย”

ชูศักยภาพ นิคมฯ อุดรธานี

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการ A4 (กิจการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย) ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI ตามประเภทกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากได้รับการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก 5 ปี รวมเป็น 8 ปี

udonthani-industrial-estate-special-economic-zone-neec-clmvt-SPACEBAR-Photo02.jpg

นอกจากนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่กว่า 400 ไร่ ที่อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ logistic park ในระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า และขออนุญาตจัดตั้งโรงพักสินค้าพร้อมลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (CY) เพื่อบรรจุและตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและขาออก ระยะที่ 2 ขออนุญาตจัดตั้งเขตศุลกากร พร้อมลานฝากตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ Inland Container Depot : ICD ที่สามารถเชื่อมระบบรางเข้ามาภายในพื้นที่เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางรางเต็มรูปแบบ

หลังรับฟังแล้ว ‘วีริศ อัมระปาล’ ผู้ว่าการ กนอ. ระบุ ข้อเสนอที่บริษัทฯ ต่างๆ ได้นำเสนอนั้น ถือเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะนวัตกรรม ICD Logistic Park ที่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง กนอ.จะประสานกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกรมศุลกากรให้ต่อไป

udonthani-industrial-estate-special-economic-zone-neec-clmvt-SPACEBAR-Photo03.jpg

ขณะที่ประเด็นความต้องการ “ยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย” เพื่อเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้เป็นแรงจูงในการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นั้น คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำเสนอต่อคณะกรรมการ นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ต่อไป

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ ดำเนินการโดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันมีลูกค้า 8 ราย พื้นที่ประมาณ 145 ไร่ ประเภทกิจการ ได้แก่ 
1. ผลิตอาหารแปรรูป (ไตปลา, ปลาร้าต้มสุก) 
2. คลังสินค้า คลังสินค้าแช่เย็น 
3. ศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า 
4. โรงพักสินค้า (Warehouse) 
5. สร้างโรงงานมาตรฐานให้เช่า และ 
6. ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงชิ้นส่วนโลหะและผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติก

udonthani-industrial-estate-special-economic-zone-neec-clmvt-SPACEBAR-Photo04.jpg

โดยนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสะอาด สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน จึงเป็นโอกาสดึงดูดนักลงทุน จากในประเทศและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในนิคมฯ มากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเป็นรูปธรรม

udonthani-industrial-estate-special-economic-zone-neec-clmvt-SPACEBAR-Photo05.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์