ภูฏาน ชอบสินค้าไทย เปิดความร่วมมือ FTA ไทย-ภูฏาน

18 พ.ค. 2567 - 09:20

  • ชาวภูฏาน มอง สินค้าไทย คือสินค้าที่มีคุณภาพ และชื่นชอบ ขณะที่ไทย ก็ยก สินค้าเกษตรภูฏาน เป็น ออร์แกนิคระดับ High End

  • เกิดความตกลง FTA ไทย-ภูฏาน หนุนความร่วมมือระหว่างกัน

  • อนาคตอันไกล้ มีสินค้าเกษตรภูฏาน ในซุปเปอร์มาเก็ตไทย

thailand-bhutan-trade-fta- agricultural-products-organic-SPACEBAR-Hero.jpg

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงความร่วมมือ ไทย-ภูฏาน ขณะนี้ว่า จากการหารือกับนายเชริง ท็อปเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน (16 พฤษภาคม 2567) ท่านนายกรัฐมนตรีภูฏานยินดีที่ไทยและภูฏานได้ลงนามในเอกสารขอบเขตสำหรับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA)  ไทย-ภูฏาน และประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏานอย่างเป็นทางการ โดยไทยเห็นว่า ความตกลง FTA ไทย – ภูฏาน จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มพูนปริมาณการค้าระหว่างกัน ลดอุปสรรคกีดกันการค้า เพื่อขยายโอกาสและอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร 

และความตกลง FTA ไทย – ภูฏาน จะมีส่วนขับเคลื่อนการค้าให้บรรลุเป้าหมายที่มูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และพ้องกันให้เร่งรัดสรุปผลการเจรจา FTA ภายในปี 2025

ไทย-ภูฏาน เชื่อมั่นสินค้า

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีภูฏาน แจ้งว่า ชาวภูฏานเห็นว่า สินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และชื่นชอบสินค้าไทย เช่นเดียวกับ รัฐมนตรีช่วย นภินทร ที่ชี้ว่า ไทยก็เห็น สินค้าเกษตรภูฏานเป็นสินค้าออร์แกนิคระดับ High End ที่ได้จากธรรมชาติ เช่นกัน ดังนั้น จึงมีความยินดีช่วยสนับสนุนการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าเกษตรภูฏานในซุปเปอร์มาเก็ตของไทย

 ขณะเดียวกัน ได้หารือเกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง Gelephu Mindfulness City (เกเลฟู มายฟูลเนส ซิตี้) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภูฏาน ติดกับประเทศอินเดีย ซึ่งมีแผนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเป็นประตูสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูฏาน และมีแผนการก่อสร้างโครงการใหญ่ อาทิ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศแห่งใหม่ โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เส้นทางคมนาคม และจะเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของภูฏาน 

โดยไทยเห็นว่า โครงการก่อสร้าง Gelephu Mindfulness City มีจุดเด่นหลายประการที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ อาทิ ที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาตร์ติดแนวชายแดนอินเดีย และการให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าและรักษาสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ นายนภินทรฯ ได้ขอให้ภูฏานแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์จูงใจ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและการลงทุนในโครงการดังกล่าว โดยปัจจุบัน ไทยมีนโยบายส่งเสริมนักธุรกิจและนักลงทุนให้เข้าไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีความน่าสนใจและภาคธุรกิจไทยมีศักยภาพที่สามารถร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาโครงการก่อสร้างแห่งนี้

นอกจากนี้ ไทยได้ชื่นชมแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของภูฏาน ซึ่งทำให้ภูฏานประสบความสำเร็จในการเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยยินดีสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของภูฏานในไทยให้ด้วย

ปัจจุบัน “ไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกระดับ” ตั้งแต่ระดับพระราชวงศ์จนถึงประชาชน รวมทั้งมีพระพุทธศาสนาและความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-ภูฏาน ในหลากหลายมิติทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตร และหัตถกรรม 

โดยภูฏานเห็นว่า ไทยกับภูฏานมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และไทยถือเป็น Gateway ของชาวภูฏาน โดยชาวภูฏานจำนวนมากเดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ ทำธุรกิจ และท่องเที่ยว และสนใจเข้าร่วมงาน Tourism Festival ในไทย เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของภูฏานในไทย และไทยยินดีกับความก้าวหน้าของภูฏานในการก้าวสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2566 มั่นใจว่า ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ภูฏานจะบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2577

thailand-bhutan-trade-fta- agricultural-products-organic-SPACEBAR-Photo01.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์