พลังงาน-ครองชีพ ต่ำ ทำเงินเฟ้อไทยลด 3 เดือนติด

5 มกราคม 2567 - 08:23

tpso-inflation-continues-3-month-energy-cost-living-low-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเฉลี่ยทั้งปี 2566 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์

  • ชี้ อานิสงส์จากพลังงาน-ค่าครองชีพ ต่ำ

สถานการณ์ราคาพลังงาน-อาหารสด ที่ลดลง ช่วยทำให้เงินเฟ้อเดือนธันวาคม ติดลบน้อยลง โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สนค. ชี้ ปี 67 เป้าเงินเฟ้อลบ 1.7% คาด เดือนมกราคม เงินเฟ้อยังติดลบ จากปัจจัยมาตรการรัฐ ทั้งตรึงราคาน้ำมัน-ค่าไฟ Easy E-Receipt แต่ยังเป็นห่วงประเด็นกบฏทะเลแดง ทำต้นทุนค่าระวางเรือพุ่ง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  กล่าวว่า การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ประเภท น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า และสินค้า พวกเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหาร รวมทั้งผักสดที่ปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายลดค่าครองชีพของรัฐบาล ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 ลดลงร้อยละ 0.83 และการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.44 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข เช่น สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว

สำหรับหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.00 ตามการลดลงของราคาสินค้าในหมวดเคหสถาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร จากการลดลงของราคาน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 และค่าโดยสารรถไฟฟ้า 

นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น) และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลบางรายการราคาปรับลดลง (ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องถวายพระ บุหรี่ สุรา และเบียร์ ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.63 ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ไก่สด เนื้อโค ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ผักสด (ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง) และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส ซอสหอยนางรม) 

สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ผลไม้สด (ทุเรียน ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า) รวมทั้งกาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย 

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 ลดลงร้อยละ 0.46 (MoM) โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.51 ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง) ผักสดและผลไม้ (ผักคะน้า ต้นหอม ผักชี ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ซอสพริก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำดื่ม กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กับข้าวสำเร็จรูป อาหารว่าง และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง)

และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.44 จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกประเภททั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล (ยกเว้นก๊าซยานพาหนะ (LPG) ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง) นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดบุรุษ และค่าของใช้ส่วนบุคคล (กระดาษชำระ ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) ราคาปรับลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ผงซักฟอก แชมพู ค่าทัศนาจรทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสุรา

นายพูนพงษ์ ยังกล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 ว่า สูงขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.23 (AoA) และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.0 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.35) โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด ทั้งข้าวสาร ไข่ไก่ ผักและผลไม้ จากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2565 และพืชผักบางชนิดเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวดี มีส่วนทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปมีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาวัตถุดิบ รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าที่ราคายังอยู่ระดับสูงกว่าปี 2565 

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร และน้ำมันพืช ตามอุปทานที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำมันเชื้อเพลิง จากมาตรการของภาครัฐและสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก 

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ 
1)  มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย 
2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม 
3) ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง และ 
4) มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 0.7) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2566 ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 54.8 จาก 55.0 ในเดือนก่อนหน้า ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันมีค่าเท่ากับเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับลดลงคาดว่ามาจาก
1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาด 
2. ความกังวลต่อปัญหารายได้ที่อาจจะยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพและภาระหนี้สิน และ 
3. ราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ช่วงเทศกาลปีใหม่จะส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมาตรการของภาครัฐด้านการลดค่าครองชีพ การเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์