SCB EIC ชี้สหรัฐเลื่อนขึ้นภาษี 90 วัน ไทยยังไม่พ้นมรสุม ศก.

13 เม.ย. 2568 - 03:14

  • SCB EIC แนะผู้ประกอบการไทย ใช้กลยุทธ์ 4P ปรับตัว รับมือกับแรงกดดันการส่งออกสหรัฐ

  • ย้ำ แม้ทรัมป์เลื่อนขึ้นภาษีออกไป 90 วัน และเก็บที่อัตราพื้นฐานที่ 10% เป็นแค่ต่อลมหายใจ-ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

  • สุดท้ายแล้วก็ยังไม่ช่วยธุรกิจไทย รอดพ้นจากมรสุมทางเศรษฐกิจ เหตุจากนี้ไปกฎกติกาการค้าโลกที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

trump-postponementขtaxes-world-trade-economic-storm-SPACEBAR-Hero.jpg

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) SCB EICเผยผลการประเมินระดับผลกระทบต่อสินค้าสำคัญ จากนโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์ 2.0 โดยชี้ แม้ขณะนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ จะประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบออกไปอีก 90 วัน และเก็บทุกประเทศที่อัตราพื้นฐานที่ 10% (ยกเว้นจีนที่โดน 145%) แต่ก็จะไม่ช่วยให้ธุรกิจไทยรอดพ้นจากมรสุมทางเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมาได้ 

โดยการเก็บภาษีตอบโต้ที่ระดับ 10% ในระยะ 90 วัน อาจช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อภาคธุรกิจไทยได้บางส่วน แต่แล้ว ภาคธุรกิจไทยก็จะยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี จากกฎกติกาการค้าโลกที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป โดยไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาในรูปแบบใด ธุรกิจไทยก็จะยังคงได้รับผลกระทบทั้งทางตรง (Direct impact) ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ และทางอ้อม (Indirect impact) อีกหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น 
1) ความต้องการสินค้าขั้นกลางจากประเทศคู่ค้าต่างๆ ของไทยที่อาจชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่มีการผลิตสินค้า เพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจีนโดนกำแพงภาษีในอัตราที่สูงถึง 145% 
2) สินค้าจีนมีแนวโน้มทะลัก เข้ามาในไทยและตลาดโลกมากขึ้น 
3) อุปสงค์ต่อสินค้าในตลาดโลกโดยรวมมีแนวโน้มแผ่วลง 
4) การเปิดตลาดสินค้าบางประเภท เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองลดแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ 
5) ไทยอาจได้รับอานิสงส์ในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากประเทศที่มีการออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ขณะที่ผลกระทบในระยะต่อไปที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด  
6) แนวโน้มการปรับเปลี่ยนและออกแบบห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลกที่อาจส่งผลให้มีการชะลอการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตออกจากไทย และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยตามมาได้

สินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับสูง

SCB EIC ประเมินว่า กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับสูง ในกรณีที่ไทยโดนภาษีตอบโต้ที่ 36% ในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ จักรยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก ยางพาราและไม้ยางพารา สินค้าประมงโดยเฉพาะกุ้ง สิ่งทอ แผงโซลาร์เซลล์และส่วนประกอบ ถุงมือยาง เป็นต้น 

สำหรับกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับปานกลาง เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรอื่น ๆ ผักผลไม้สดและแปรรูป เนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป ยานยนต์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับต่ำ ได้แก่ ข้าว นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มต่างๆ

ระดับความรุนแรงของผลกระทบจาก Reciprocal tariffs

นอกจากนี้ ระดับความรุนแรงของผลกระทบจาก Reciprocal tariffs ต่อภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเงื่อนเวลา เนื่องจากยิ่งภาษีถูกใช้นานขึ้น ผลกระทบก็จะยิ่งมากขึ้น สอดคล้องกับค่าความยืดหยุ่นของความต้องการนำเข้าต่อราคาที่สูงขึ้นตามระยะเวลา โดยหากใช้สมมติฐานการวิเคราะห์โดยกำหนดให้ Reciprocal tariffs อยู่ที่ระดับ 36% โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ลดลงสะสมราว 8.1 แสนล้านบาท เมื่อมีการบังคับใช้มาตรการด้านภาษีครบ 5 ปี ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับสงครามการค้าที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อออกไป

ทั้งนี้การชะลอการเก็บภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบของสหรัฐฯ ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งทุกประเทศรวมทั้งไทยจะโดนเก็บภาษีที่อัตราพื้นฐาน (Universal rate) ที่ 10% (ยกเว้นจีนซึ่งโดนเก็บที่ 145% ทันที) จะช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อภาคธุรกิจไทยได้บางส่วน จากอานิสงส์ 3 ประการ ได้แก่ 1) การเร่งส่งออกสินค้าในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอย่างเต็มรูปแบบกับไทย อย่างไรก็ดี ผลบวกในด้านนี้อาจถูกลดทอนลงได้ เนื่องจากมีการเร่งส่งออกสินค้าไปบ้างแล้วบางส่วนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา 2) ระดับภาษีที่ไทยถูกเก็บจากสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 90 วันต่อจากนี้ จะอยู่ในระดับเดียวกันกับคู่แข่ง ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยในระยะสั้น ๆ เอาไว้ได้ 3) โอกาสในการเข้ามาทดแทนการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ และจากตลาดสหรัฐฯ ไปยังจีน โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยมีอุปทานในประเทศและมีกำลังการผลิตส่วนเหลือมากเพียงพอ

แนะ ผู้ประกอบการไทยใช้กลยุทธ์ 4P เพื่อปรับตัวเ-รับมือแรงกดดัน

SCB EIC ประเมินว่าผู้ประกอบการไทยสามารถใช้กลยุทธ์ 4P ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากนโยบายของ Trump 2.0 และจากปัญหาโครงสร้างการผลิตที่ยังอ่อนแอ ประกอบด้วย
Product : พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์/แตกต่าง/สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า
Place : กระจายตลาด
Preparedness : บริหารความเสี่ยงในทุกมิติทั้ง Supply chain และ Balance sheet 
Productivity : การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และถือโอกาสใช้วิกฤติครั้งนี้ยกเครื่องโครงสร้างการผลิตของไทยให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์