คนระวังใช้เงินปีใหม่’67 แต่ยังคาด ‘สะพัดหลักแสนล้าน’

21 ธ.ค. 2566 - 09:47

  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย คาด เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นในต้นปีหน้า

  • ชี้ ปีใหม่ คนกล้าใช้จ่ายมากขึ้น แต่ยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง

  • คาดตลอดเทศกาล มีเงินสะพัดทั่วไทยกว่าแสนล้าน

utcc-poll-new-year-2024-spending-survey-careful-spending-SPACEBAR-Hero.jpg

ต้องบอกว่า คนไทยเข็ดกับการ ‘ไม่มีเงิน’ โดยหลังโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ควบคุมได้ คนไทยเริ่มมีเงินกลับเข้ากระเป๋า แต่ยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากข้าวของที่แพงขึ้น ค่าครองชีพสูง ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เทศกาลปีใหม่ 2567 ที่กำลังมาถึง ซึ่งกล่าวได้ว่า แม้จะมีเงินสะพัดสูงด้วยตัวเลขคาดการณ์กว่า 1 แสนล้านบาท แต่ยังเป็นไปแบบ ‘ระมัดระวัง’

รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจการเตรียมจับจ่ายใช้สอยของคนไทยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 โดยชี้ ปีนี้คนไทยจะเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคัก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ที่คาดมีความคึกคักมากเป็นพิเศษ และจะมีเงินสะพัดมากกว่ามูลค่า 105,924.21 ล้านบาท ขยายตัว 2.8% สูงสุดในรอบ 4 ปี ทีเดียว

utcc-poll-new-year-2024-spending-survey-careful-spending-SPACEBAR-Photo02.jpg

ทั้งนี้ หากนับมูลค่าการใช้จ่าย ‘ท่องเที่ยวในประเทศ’ ต่อคน พบ จะมีการใช้จ่ายที่ประมาณ 6,000 บาท ขณะที่ ‘ท่องเที่ยวต่างประเทศ’ ใช้จ่ายมากกว่า 35,000 บาทต่อคน ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่กว่า 105,924.21 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นอกจากค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวแล้ว ยังพบ ประชาชนเตรียมใช้จ่ายด้านอื่นสูงตามมาด้วย เช่น 
- เลี้ยงสังสรรค์ ทำบุญและอุปโภคและบริโภค ด้วยตัวเลขอีกกว่า 19,418 ล้านบาท 
- ซื้อสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือย กว่า 5,000 ล้านบาท 
- ไปท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ กว่า 60,000 ล้านบาท เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ตัวเลขที่ปรากฏดังกล่าว สะท้อนถึงการขยับขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่ง อาจารย์ธนวรรธน์ ยังวาดภาพให้เห็นด้วยว่า 
- ช่วงเทศกาลปลายปี ตั้งแต่คริสต์มาส, ปีใหม่ 2567 ถึงช่วง ไตรมาส 1 เศรษฐกิจยังฟื้นตัวแบบระมัดระวัง ท่ามกลางปัจจัยท้าท้ายของเศรษฐกิจโลก ที่มีหลายปัจจัยทั้งบวกและบั่นทอน แต่จะค่อยๆ คลายขึ้น เพราะกลไกเศรษฐกิจ จะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบ โดยส่งออก-ท่องเที่ยว ไตรมาส 1 น่าจะเป็นตัวเริ่มในการที่จะหยุดยั้งการซึมตัวของระบบเศรษฐกิจลงได้ 
- ส่วนไตรมาส 2 เศรษฐกิจ เข้าสู่ช่วง ‘หยุด’ คือ หยุดความไม่ใช่ / หยุดทรุดตัว / อารมณ์เศรษฐกิจไม่ดี จะหยุดลง พร้อมกับ หยุดปัจจัยเสี่ยงของประเทศ

“การซึมตัวไม่ได้หมายความว่า ประเทศเติบโตไม่ดี แค่อารมณ์คนรู้สึกว่า เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ซึ่งภาวะแบบนี้มันน่าจะหยุดลงในไตรมาสที่ 2 หลังจากไตรมาส 1 ที่มีมาตรการกระตุ้น อี-รีฟัน และการส่งออก-การท่องเที่ยว ที่หวังว่า น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 และสุดท้ายคือ หยุดสถานการณ์ทุกอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ในครึ่งปีหลัง”

อ.ธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับการสำรวจครั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 10-16 ธันวาคม 2566 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 1,258 ตัวอย่าง

utcc-poll-new-year-2024-spending-survey-careful-spending-SPACEBAR-Photo01.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์