ตลาดเบียร์ไทยสะเทือนแค่ไหน หลัง บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ตัดสินใจลงแข่งกับเจ้าตลาด 2 รายใหญ่ ด้วยการส่งเบียร์ลงสนามถึง 2 แบรนด์ 5 รสชาติ ที่มีมากกว่าแค่เบียร์ลาเกอร์ แต่มีทั้งดุงเกล, โรเซ่, ไอพีเอ...
และ “เบียร์ไวเซ่น” (Weizen Beer) ที่ได้รับการพูดถึงไม่แพ้ดุงเกล (เบียร์ดำ)
คำถามคือเบียร์ไวเซ่นมาแรงแค่ไหน ผู้บริโภคไทยเปิดใจรับหรือไม่ และเมื่อพูดถึงเบียร์ไวเซ่นคนไทยนึกถึงอะไรบ้าง
นี่คือคำตอบที่ DATAOPS ทีมด้านข้อมูลของ SPACEBAR พบ...

“ไวเซ่น” เบียร์น้องใหม่ โตแรงอันดับ 3 ในไทย
อ่านกระแสเบียร์ในใจคนไทยผ่าน Google Trends ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2566-2567)
🍺 45% เบียร์ลาเกอร์ (Lager Beer)
🍺 32% เบียร์ดำ (Dark Beer)
🍺 22% เบียร์ไวเซ่น (Weizen Beer)
🍺 1% เบียร์แอลกอฮอล์ 0% (Non Alcoholic Beer)
พบว่า เบียร์ลาเกอร์ (Lager Beer) ซึ่งเป็นเบียร์ที่ครองตลาดในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ยังคงครองอันดับหนึ่ง ขณะที่เบียร์ดำ (Dark Beer) ที่นักดื่มบางกลุ่มคุ้นเคยมาแรงรองลงมา
จุดที่น่าสนใจคือ อันดับที่ 3 เบียร์ไวเซ่น (Weizen Beer) หรือเบียร์ที่ทำมาจากข้าวสาลีกลายเป็นเบียร์ที่อยู่ในความสนใจของนักดื่มไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แซงหน้าแบบทิ้งห่างเบียร์ที่ทำตลาดมาก่อนอย่างเบียร์แอลกอฮอล์ 0% (Non Alcoholic Beer)
กระแสเบียร์ไวเซ่นโตแรง... ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะเป็นคลื่นที่มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของตลาดคราฟต์เบียร์ที่มูลค่าตลาดโตแบบก้าวกระโดด 40-50% ต่อปี และพฤติกรรมของนักดื่มรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป
วันนี้โลกเชื่อมถึงกันหมด อินเทอร์เน็ตได้เปิดโลกนักดื่มให้เข้าถึงตลาดเบียร์ทั่วโลก นักดื่มรุ่นใหม่ที่ต้องการแสวงหาเบียร์ที่มีรสชาติต่างออกไป จึงพร้อมกระโดดเข้าสู่เบียร์ลูกคลื่นใหม่ได้เสมอ

Weizen Beer คืออะไร
ถ้าคุณพิมพ์คำว่า “เบียร์ไวเซ่น” และ “Weizen” จะพบว่าหัวข้อที่คนไทยพูดถึงเกี่ยวกับคำนี้ 3 อันดับแรกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่
1. เบียร์ตะวันแดง
2. เบียร์คาราบาว
3. Weizen Bock
ไม่ว่าเป็นเพราะงบการตลาดและประชาสัมพันธ์ที่ทุ่มลงไป หรือมาจากพฤติกรรมและความคิดของนักดื่มเองก็ตาม ต้องยอมรับว่าวันนี้ Tawandang Weizen ได้สร้างการรับรู้ในใจผู้บริโภคไทยจนกลายเป็นแบรนด์แรกๆ ที่คนจะนึกถึงเมื่อพูดถึง "เบียร์ไวเซ่น" (Weizen Beer)
สำหรับคนที่ไม่สันทัดเรื่องเบียร์ต้องบอกว่า “เบียร์ไวเซ่น” คือเบียร์ประเภทหนึ่งในจักรวาลเบียร์อันกว้างใหญ่ ที่ทำมาจากมอลต์ที่ได้จากข้าวสาลี มีคาแรกเตอร์ที่ดื่มง่าย ไม่ขม สดชื่น แอลกอฮอล์ต่ำ โดยมีต้นกำเนิดจากแถบแคว้นบาวาเรียในประเทศเยอรมนี
ใครที่เคยได้ยินคำที่คล้ายกันอย่าง Witbier (ภาษาเบลเยี่ยม) ขอให้รู้ว่าเป็นเบียร์ประเภทเดียวกันกับ Weizen Beer (ภาษาเยอรมัน) ทำมาจากข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบหลักเหมือนกัน แต่แตกต่างกันในแง่ของส่วนผสมตามรสนิยมและวัตถุดิบในท้องถิ่น

ชีพจรความสนใจต่อ “เบียร์ไวเซ่น” ของคนไทย
เมื่อวัดชีพจรความสนใจต่อ “เบียร์ไวเซ่น” (Weizen Beer) ในโลกโซเชียลมีเดียที่ไหลบ่าและท่วมท้นด้วยกระแสสังคมแบบเรียลไทม์พบว่า
คนส่วนใหญ่ 84% จะนึกถึง Tawandang Weizen
และคนอีก 16% นึกถึงเบียร์ไวเซ่นยี่ห้ออื่นๆ เช่น คราฟต์เบียร์ระยอง เป็นต้น
เมื่อเทียบเคียงข้อมูลที่ได้กับระบบ คำเด่นที่เกี่ยวข้อง (Word Cloud) พบว่าคำเด่นใน 3 อันดับแรกเป็นแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญและคอนเทนต์ออนไลน์ของกลุ่มคาราบาว
ไม่ว่า... #เชียร์บอลเชียร์บาว #carabaotawandangbeverage #carabao
คาดการณ์ได้ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มคาราบาวเจ้าของแบรนด์ Tawandang Weizen ได้ทุ่มการประชาสัมพันธ์และการตลาดเพื่อให้เบียร์ไวเซ่นเป็นที่รู้จัก
เพราะต้องยอมรับว่า คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเบียร์ที่ครองตลาดมานานอย่างเบียร์ลาเกอร์ (Lager Beer) เนื่องจากการผูกขาดตลาดเบียร์ของผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่ราย การเข้ามาเปิดตลาดเบียร์ใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคยอย่างเบียร์ไวเซ่น (Weizen Beer) จึงต้องทุ่มสุดตัวทั้งในแง่การตลาดและการสื่อสาร
หากความรู้คืออำนาจ การให้ความรู้ใหม่ (หรือการ Educate ตลาด) จะช่วยสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภค
เมื่อรู้แล้ว ผู้ผลิตอาจได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรการันตี เพราะท้ายที่สุดใครใคร่จะดื่มอะไร ก็เป็นเรื่องตามอัธยาศัยของใครของมัน

รู้จักโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ต้นตำรับเบียร์ Weizen แท้ (ในราคาคนไทย)
ใครเป็นคอเบียร์คงไม่มีใครไม่รู้จัก #โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ที่เปิดกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ.2542 หรือ 25 ปีที่แล้ว โดยคุณเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มคาราบาว เป็นผู้ก่อตั้งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ด้วยความตั้งใจให้คนไทยได้ดื่มเบียร์สดต้นตำรับเยอรมันแท้ๆ (โดยมีเบียร์ไวเซ่นเป็นหนึ่งในนั้น) ในราคาคนไทย
จากเบียร์ในโรงเบียร์ คุณเสถียรได้ต่อยอดและพัฒนาเบียร์ไวเซ่นมาสู่รูปแบบบรรจุกระป๋องในชื่อ Tawandang Weizen เพื่อเพิ่มความหลากหลายในตลาดเบียร์ให้คนไทยได้มีทางเลือก
เพราะในโลกนี้มีเบียร์อีกมากมายมหาศาล ไม่ควรมีใครต้องถูกจำกัดการรับรู้ว่ามีแค่ชนิดเดียวหรือไม่กี่ชนิด
ทำรู้จัก เบียร์ไวเซ่น (Weizen Beer) ให้มากขึ้นได้ในรายการ เปิดจักรวาลเบียร์กับพี่เถียร