ซินเคอหยวน ปัดเอี่ยว สตง.ถล่ม โยนบาปโครงสร้างวิศวกร

21 เม.ย. 2568 - 13:12

  • ซินเคอหยวน ตั้งโต๊ะแถลงโต้กระทรวงอุตฯ ยืนยัน ผลิตเหล็กมีคุณภาพมาตรฐาน

  • ชี้ สังคมตอนนี้ เป้าไม่ได้อยู่ที่เหล็ก แต่อยู่ที่การทุจริต เผยต่อ เหล็กซากตึก สตง.เป็นเหล็กใช้แล้ว นำไปตรวจวัดหาค่ามาตรฐาน ‘ไม่ได้’

  • เตรียมยืนอุทธรณ์ ขอยกเลิกคำสั่งเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังย้ำ ไม่เกี่ยวข้องกับทุนจีนเทา

xinkeyuan-standards-steel-not-relevant-rebar-building-collapse-SPACEBAR-Hero.jpg

บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด (SKY) ส่ง 3 ทนาย เป็นตัวแทนตอบข้อเท็จจริงปัญหาเหล็กและการดำเนินกิจการเรียบร้อยแล้ว โดยระบุ การไม่ชี้แจงทันที เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หลังเกิดเหตุบริษัทฯ ได้รับผลกระทบอย่างมาก ต้องตกเป็นจำเลยสังคม โดยมีกระแสชี้นำให้เข้าใจว่า หนึ่งในสาเหตุหลักของตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มครั้งนี้ มาจากเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และมาจากบริษัท ซินเคอหยวน ที่พบสัญลักษณ์ตรงเหล็กเส้นในที่เกิดเหตุ ว่า SKY 

ซินเคอหยวน ย้ำ คุณภาพ-มาตรฐานเหล็ก ISO9001

ประเด็นนี้ ซินเคอหยวน ยืนยันว่า การผลิตเหล็กตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นไปตามมาตรฐาน ISO9001 สาเหตุที่ทำให้อาคาร สตง. ถล่ม น่าจะเป็นส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับซินเคอหยวน โดยเป็นไปได้ทั้งการออกแบบก่อสร้างทางวิศวกรรม หรือมาจากการลดสเปคการก่อสร้าง เพราะซินเคอหยวน คือ ‘ผู้ผลิตเหล็ก ที่ขายผ่านดีลเลอร์’ เท่านั้น ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมกับมีดีลเลอร์จำนวนมากที่ซื้อเหล็กกับซินเคอหยวน จึงต้องไปไล่ตรวจสอบว่า ตึกนี้ซื้อขายกับใคร ด้วยสเป็คอย่างไร?

ตัวแทนซินเคอหยวน ยังแย้งข้อมูลการตรวจสอบเหล็ก ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เมื่อช่วงปลายปี 2567 ที่ชี้ มีเหล็กไม่ผ่านมาตรฐานเรื่องค่าโบรอน โดยตัวแทนบริษัทระบุว่า ว่า เครื่องมือของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้า ไม่สามารถตรวจวัดค่าได้ตามมาตรฐาน มอก.ได้

xinkeyuan-standards-steel-not-relevant-rebar-building-collapse-SPACEBAR-Photo03.jpg

โต้ ตรวจเหล็กซากตึก สตง. ‘ไม่เป็นธรรม’ ซินเคอหยวน

เช่นเดียวกับ การตรวจสอบเหล็กที่ สมอ.เก็บจากซากตึก สตง. ไปตรวจสอบ ภายหลังเกิดเหตุอาคารถล่ม และมีผลรายงานว่า พบเหล็กไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ประเด็นนี้ ตัวแทนซินเคอหยวน ระบุว่า เป็นผลตรวจที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากการตรวจสอบ ‘มาตรฐานเหล็ก’ ที่ถูกต้อง จะต้องใช้ ‘เหล็กยังไม่ผ่านการใช้งาน’ ไม่ใช่นำเหล็กที่ใช้งานแล้ว ผ่านการเสียดสี-บิดตัว ไปตรวจสอบ เหล็กเหล่านี้ ไม่สมารนำมาวัดค่าอุตสาหกรรมได้ เพราะถูกใช้ไปแล้ว

“ในการส่งตรวจสอบ จะต้องนำเหล็กใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานท่อนเดียวกัน ตัดเป็น 3 ส่วน โดยส่งแลป1 ผู้ประกอบการ1 และทางราชการ1 เมื่อผลแลปออกมาแล้ว หากยังต้องการตรวจสอบเพิ่มเติม ก็สามารถใช้ส่วนที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ประกอบการ หรือของส่วนราชการ ก็ได้ หลักการตรวจคือเป็นอย่างนี้”

ทนาย ตัวแทนซินเคอหยวน ระบุ

xinkeyuan-standards-steel-not-relevant-rebar-building-collapse-SPACEBAR-Photo01.jpg

ด้านการถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์การลงทุน จากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 เรื่องนี้บริษัทฯ กำลังยื่นอุทธรณ์ ขอยกเลิกคำสั่งเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเพื่อกลับมาดำเนินการ เลี้ยงพนักงานได้บ้าง 

ทั้งนี้ ซินเคอหยวน ถูกปิดโรงงานมาตั้งแต่ปี 2567 ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านบาท ประเมินค่าไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ และกับพนักงานทุกคน และทุกวันนี้ก็จ่ายรายได้พนักงานเพียง 75% เท่านั้น

แจงปมมลพิษ ‘ฝุ่นแดง’ ในโรงงาน

สำหรับกรณีมลพิษ ‘ฝุ่นแดง’ ที่ตรวจพบภายในโรงงานว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้นผิดปกติถึง 43,000 ตันนั้น ทนายความตัวแทนบริษัท ชี้แจงว่า ที่โรงงานเรียกว่าเป็น ‘ฝุ่นดำ’ โดยเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตเหล็ก ที่ขณะนี้กำลังหาโรงงานแปรรูป เพราะฝุ่นดำ คือ ‘ซิงค์ออกไซน์’ หรือ สังกะสี นั่นเอง

สำหรับสาเหตุที่มีการรายงานตัวเลขไม่ตรงกัน โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงอุตฯ ไปตรวจ และพบปริมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น ทนายตัวแทน ชี้แจงว่า อาจมาจากความผิดพลาดของระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะแต่เดิมต้องส่งตรวจทุก 3 เดือน และมาระยะหลัง มีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาเป็น 1 ปี รายละเอียดต่างๆ นี้ ยืนยันได้ว่า ได้ชี้แจงไปที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองเรียบร้อยแล้ว การที่ข้อมูลไม่สมดุลกัน เกิดจากความบกพร่องของการแจ้งผ่านออนไลน์หรือไม่? เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สามารถตรวจสอบได้

ซินเคอหยวน กับ ‘ใบภาษีผิดปกติ’

ขณะที่กรณีกรมสรรพากร ตรวจพบการทำใบภาษีมีความผิดปกติ ทนายความตัวแทนบริษัทระบุว่า ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างกระบวนการในชั้นศาล และปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด 

ตัวแทนบริษัท ยังกล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า การที่ซินเคอหยวน ถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานรัฐตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศในการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะกับจีน เริ่มไม่ดี ต่างชาติที่เห็นอาจชะลอการลงทุน ส่วนซินเคอหยวนเองจะตัดสินใจถอนการลงทุนจากประเทศไทยหรือไม่ ประเด็นนี้ยังไม่มีการตัดสินใจ

“บริษัท ซิน เคอ หยวน จํากัด ได้รับ BOI จากทางภาครัฐ มีมาตรฐานตาม ISO 9001 กำหนด ซึ่งเป็นไปตามที่ BOI กำหนดเอาไว้ เพราะฉะนั้นแล้ว ในส่วนที่มีความพยายามชี้นำให้เห็นว่า เมื่อเป็นบริษัทฯ ของคนจีนแล้ว น่าจะเป็นจีนเทาหรือเปล่า มีการพูดถึงในลักษณะเป็นลบ ต้องขอชี้แจงว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน จํากัด ประกอบธุรกิจสุจริตมาโดยตลอด ปฏิบัติตามกฎหมายมาโดยตลอด เราจ้างบริษัทบัญชีมือดีมาทำงาน เพราะไม่อยากทำผิดพลาด ทำเอกสารเท็จเค้าคงไม่เอาด้วย เช่นเดียวกับข้อกล่าวหาที่ว่าเกี่ยวข้องกับทุนจีนเทานั้น ยืนยันได้ว่า ‘ไม่เกี่ยวข้อง’”

ทนาย ตัวแทนซินเคอหยวน ระบุ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์