ว่าด้วยเรื่อง ‘มนุษย์’ และ ‘ความเชื่อ’ ในลัทธิบูชาบุคคลที่เกี่ยวโยงกับพุทธศาสนา

8 เม.ย. 2567 - 08:00

  • ว่าด้วยเรื่องความศรัทธาของมนุษย์ที่ยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าการไปพบจิตแพทย์เพื่อแสวงหาคำตอบไปสู่ความสบายใจ

human-and-believe-in-buddhism-SPACEBAR-Hero.jpg

หากพูดถึงมนุษย์ที่มีทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อร่างกายป่วยแน่นอนว่าเราทุกคนเลือกที่จะไปหาหมอเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยทางกายให้สบายตัว แต่ถ้าหากเจ็บป่วยทางใจมนุษย์เลือกที่จะไปที่ไหนล่ะ? ระหว่างเข้าหาสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหรือจิตแพทย์ เหมือนกับวลีหนึ่งที่ ‘วิน’ ได้พูดกับ ‘เกม’ และ ‘เดียร์’ ในซีรีส์เรื่อง ‘สาธุ’ (อ่านบทความเกี่ยวกับซีรีส์เรื่อง ‘สาธุ’ และ ‘พุทธพาณิชย์’ ได้ที่ >>> Netflix: ‘สาธุ’ ซีรีส์ที่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับพุทธศาสนาในไทย

ในประเทศไทยได้เกิดลัทธิบูชาตัวบุคคลขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น   ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ ‘อาจารย์เอ จักรพรรดิ’ และอีกหลากหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นความเชื่อส่วนบุคคลตามรสนิยมและประสบการณ์ในการเลือกที่จะเชื่อผู้ใด 

หลายคนที่ไม่ได้มีความเชื่อแบบนี้ก็ได้แต่ตั้งคำถามว่า ทำไมคนเหล่านี้ถึงมีศิษยานุศิษย์หรือสาวกมากมาย? มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ใครกันที่ได้ผลประโยชน์? 

เพราะความอ่อนแอในจิตใจทำให้มนุษย์ต้องวิ่งหาที่พึ่งเพื่อสนองความต้องการที่จะพ้นทุกข์ทางใจจากเรื่องเครียดต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิต ความสงบจิตสงบใจที่ได้รับจากการฟังในสิ่งที่บุคคลเหล่านี้ได้บอกกล่าวให้แง่คิด จนทำให้เกิดความเลื่อมใส นำมาสู่การยกย่องเชิดชูบุคคลเหล่านี้ขึ้นมาในสังคมในที่สุด 

แล้วมันเกี่ยวกับศาสนาพุทธอย่างไร? แน่นอนว่าศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้คนงมงาย เพียงแต่อาจจะมีบางคำสอนที่ช่วยให้ชาวพุทธสงบจิตสงบใจตั้งมั่นในการภาวนากรรม รวมถึงการนั่งสมาธิเพื่อก่อให้เกิดการตระหนักในความคิด จนกระทั่งพบหนทางขจัดทุกข์ในจิตใจออกไปได้ทีละเปลาะ หากแต่สิ่งที่บุคคลเหล่านั้นหยิบยกมาเป็นคำพูดที่ให้แง่คิดดีๆ ต่างก็ล้วนมาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น 

เพียงแต่บางทีมนุษย์อาจจะหลงลืมเรื่องเหล่านี้ไป และหันไปพึ่งในสิ่งที่เรียกว่าเป็นลัทธิบูชาบุคคลแทน เพราะเข้าถึงได้ง่าย  ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงพวกเขาได้ทุกเพศทุกวัย อาจจะเป็นความสบายใจอย่างหนึ่ง มากกว่าการที่จะไปทำบุญหรือเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่วัด 

 ไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้นที่มีพฤติกรรมในแบบลัทธิบูชาบุคคล เพราะในต่างประเทศยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนในตอนนี้ มีกระแสนิยมอย่างมากกับการดั้นด้นไปพบกับ แม่สื่อหวัง แห่งเมืองไคฟง ที่จะออกไปพบปะผู้คนในเมือง และจัดอีเวนท์หาคู่ให้กับคนที่ไปร่วมงาน โดยการให้ชายหรือหญิงที่ต้องการหาคู่ขึ้นไปแสดงตนบนเวที บอกเล่าถึงสเปกของคู่ครองที่ปรารถนา แล้วคัดเลือกคู่จากคนที่ไปร่วมงาน   แน่นอนว่าเมื่อความเชื่อนี้ได้แพร่สะพัดออกไป ครั้งใดที่มีอีเวนท์ของ แม่สื่อหวัง ก็ล้วนมีเหล่าคนจีนผู้เลื่อมใสพุ่งตัวไปยังสถานที่จัดงาน เพียงหวังให้ตัวเองได้เจอคู่บ้าง มีข่าวว่าชายหรือหญิงผู้ใดที่ได้ขึ้นไปบนเวทีของ แม่สื่อหวัง ก็ได้แต่งงานสมดั่งใจจริงๆ  

ในหมู่มวลของเทพเจ้าจีนก็มีเทพเจ้าที่เป็นดั่งคิวปิดที่ผู้คนมักจะไปกราบไหว้เพื่อขอคู่ครองเช่นกัน เทพเจ้าองค์นี้มีนามว่า ‘เทพเจ้าเหย่โหลว’ หรือ ‘ผู้เฒ่าจันทรา’ หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าหากบอกว่า ท่านคือองค์เดียวกับ ‘เทพเจ้าด้ายแดง’ เหล่าสายมูคงจะร้องอ๋อทันที 

สิ่งที่มนุษย์ต่างวิ่งเข้าหาลัทธิบูชาบุคคลก็เพียงเพราะต้องการที่พึ่งทางจิตใจที่เข้าถึงได้ง่าย และยังเป็นช่องทางที่สามารถใช้เงินแก้ปัญหาได้ เพียงเพราะคำว่าบริจาคตามกำลังศรัทธาเพื่อความสบายใจและคิดว่าจะช่วยผ่อนเรื่องทุกข์ในใจให้เบาบางลง 

ย้อนกลับมาที่วลีจากซีรีส์เรื่อง ‘สาธุ’ หากการรณรงค์จากหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความทุกข์ในใจให้ความสำคัญต่อต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น การชี้นำให้มนุษย์เข้าถึงการเยียวยาความทุกข์ในใจกับจิตแพทย์น่าจะเหมาะสมกว่าหรือไม่? จะดีกว่าไหมหากยุติการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ว่าคนที่จะไปพบจิตแพทย์คือคนไม่ปกติ และจะเป็นอย่างไรหากจะให้การสนับสนุนแก่ทีมแพทย์ต่างๆ ไม่ใช่เพียงจิตแพทย์แต่เป็นวงการแพทย์โดยรวมสู่ความสุขสบายทั้งกายและใจ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพาทางเลือกอื่นที่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์