ช่วงค่ำวันนี้ (18 กรกฎาคม 2568) ที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย จะให้คำตอบเรื่องเสนอญัตติถามศาลรัฐธรรมนูญ ปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คาอยู่ในสภาสองร่าง จะให้เดินหน้าหรือถอยหลังกันอย่างไร
โดยจะให้เสนอเป็นญัตติของเพื่อไทยเอง ไม่ต้องไปอาศัยจมูก สว.ที่ ‘นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ’ ยื่นคาไว้หนึ่งญัตติ แต่ถูกที่ประชุมรัฐสภาเบรก ไม่ให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาในวันก่อน จนนำไปสู่การล่มองค์ประชุมสภาสองวันซ้อน
ส่วนประเด็นที่จะเสนอยังรำวงอยู่ที่เดิม คือ ทำประชามติก่อนหรือหลัง จำนวนกี่ครั้ง?!
‘วิสุทธิ์ ไชณยรุณ’ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานสส.พรรคเพื่อไทย อธิบายเหตุผลความจำเป็น ที่ต้องยื่นญัตติในนามเพื่อไทย ก็เพื่อแสดงจุดยืนการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระ ซึ่งประเด็นจะต่างจากญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ที่ค้างอยู่ พร้อมปฏิเสธเรื่องเพื่อไทยเตะถ่วงแก้รัฐธรรมนูญ
‘ยืนยันว่าไม่ได้เตะถ่วง เพราะถ้าเราเดินสุดในการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตก เราถึงต้องยื่นญัตติอีกฉบับหนึ่ง เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ และเราก็พยายามเดินหน้า แต่ถ้าไปยังไม่ได้ทั้งที่เราตั้งใจจะไป แต่ไปแล้วก็ไปตกเหวข้างหน้า เราจึงไม่อยากให้ตกไป จึงให้ค้างอยู่ในสภา’
แกนนำเพื่อไทยหลายคน พยายามออกมาชี้แจง ให้สาระพัดเหตุผล โดยเฉพาะวรรคทองที่ว่า ต้องการให้ ‘แก้ได้’ ไม่ใช่แค่ ‘ได้แก้’ แต่แก้ไม่สำเร็จแล้วนำไปใช้หาเสียงกับประชาชนเท่านั้น
แต่คำพูดสวยหรูที่เหล่าแกนนำพรรคเพื่อไทยยกขึ้นมาอ้างนั้น บังเอิญเวลามันผ่านมาเนิ่นนานเกือบสองปีแล้ว และที่ผ่านมาก็อยู่ในอาการเดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสองก้าว รำวงสาละวันมาตลอด
การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อ จึงถูกมองเป็นการเล่นละคร ไม่ได้ตั้งใจจะแก้กันจริงๆ
ย้อนเวลาไปตั้งแต่ที่พรรคประชาชนยังเป็นพรรคก้าวไกล จะเสนอญัตติต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สภาส่งเรื่องไปครม.เรื่องการทำประชามติสอบถามประชาชน ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
แต่ถูกพรรคเพื่อไทยเบรกไว้ โดยพูดให้ความหวังทำนองว่า “เดี๋ยวก็จะเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมไปที่วุฒิสภาอีก” ทันทีที่ประชุมครม.นัดแรก ก็จะนำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับแรกทันที
เมื่อได้เข้าทำเนียบรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ก็ได้ทำตามที่รับปากไว้ แต่เป็นการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
ไม่ใช่มติครม.ให้จัดทำประชามติ!!
อารมณ์เดียวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับ ‘แก้ไข ไม่แก้แค้น’ ที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พอถึงเวลาจวนตัว ที่พรรคการเมืองอื่นเสนอร่างเข้าสภาไปหมดแล้ว แต่ยังไม่มีร่างของเพื่อไทยหรือร่างรัฐบาลเข้าประกบ
พรรคเพื่อไทย ก็ออกลูกแบบเดิม เสนอญัตติขอให้สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก่อน ทั้งขอสภาขยายเวลาพิจารณาไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง จนได้ข้อสรุปที่นิรโทษกรรมแบบ ‘แยกปลา แยกน้ำ’
ไม่ให้นำความผิดคดีมาตรา 112 มารวมนิรโทษกรรมด้วย
แต่สุดท้าย ‘เสนอเอง-คว่ำเอง’ ไม่นักเลงพอ สส.พรรคเพื่อไทย พร้อมใจกันโหวตไม่รับรองรายงานผลการศึกษาฉบับที่ตัวเองเป็นผู้เสนอเองแท้ๆ วันนี้ผ่านมาจะสองปีแล้ว ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ‘แก้ไข ไม่แก้แค้น’ ป่านนี้ยังเป็นวุ้นอยู่
แถมเที่ยวนี้แกนนำเพื่อไทย ยังสารภาพแบบตรงๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องเดินอ้อมไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก่อน จนถูกผู้นำจิตวิญญาณพรรคสีส้ม ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ออกมาล้อว่า ‘เพื่อไทยวิธี’
ที่ว่ามาไม่ใช่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพราะในสังคมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก้ำกึ่งกันอยู่
ยกเว้นนักการเมืองที่อยากให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า
นาทีนี้เท่าที่ดูแล้ว คงยากและอาจปิดประตูลั่นดาลด้วยซ้ำไปว่า ไม่มีทางได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่จะมีขึ้นในปี 2570 อย่างแน่นอน
สาเหตุไม่เพียงเพราะกลไกการแก้ไขที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ออกแบบไว้ซับซ้อนเท่านั้น แต่ “ปัญหาการเมืองที่แบ่งออกเป็น 3 ก๊ก” ต่างหาก ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดหัวทิ่มหัวตำ เดินหน้าต่อไปไม่ได้
ที่ผ่านมา เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จากบัตรหนึ่งใบกลับไปเป็นบัตรสองใบมาแล้ว ซึ่งทำได้สำเร็จเพราะพรรคการเมืองมีความเป็นเอกภาพ ต่างจากวันนี้ที่แบ่งเป็น 3 ก๊กใหญ่ คือ “ก๊กแดง ก๊กน้ำเงิน ก๊กส้ม” และไม่ได้มีเฉพาะฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ยังมีฝ่ายขวางด้วยอีกต่างหาก
ตราบใดที่ฝ่ายการเมืองยังขบเหลี่ยม เหยียบตาปลากันอยู่ รับรองไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญได้
อย่าว่าแต่แก้รัฐธรรมนูญเลย แม้แต่ญัตติของพรรคเพื่อไทยที่จะเสนอเข้าไปใหม่ ถ้าวงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ ยัง ‘ล้างใจ’ กันไม่ได้ อาจได้เห็นการฉีกหน้ากันกลางสภาเกิดขึ้นอีกรอบ
ตรงนี้กระมัง ที่เขาเรียกความ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องออกแบบวางกลไกให้ซับซ้อนเข้าไว้พอๆ กับค่ายกลเจ็ดดาว แถมด้วยด่าน 18 อรหันต์ หรือจะเป็นอาถรรพ์รัฐธรรมนูญ คสช.ล้วนๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
วันนี้รัฐธรรมนูญ คสช.อายุย่างเข้า 8 ขวบแล้ว แม้จะปราบโกงไม่ได้ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าแก้ไขยาก !!