แม้อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะแสดงอาการถ่มถุยส์ ไม่ให้ราคากับคำถามเรื่องยุบพรรคภูมิใจไทย อันเป็นผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีลง ด้วยเหตุแห่งการถือหุ้นนอมินี หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำกัด
แต่เมื่อไปดูบางช่วงบางตอนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้พิรุธในหลายประเด็น จนนำไปสู่มติ 7 ต่อ 1 ว่าเป็นการถือหุ้นนอมินีแล้ว ย่อมสมควรแก่การขีดเส้นใต้หนา ๆ ในกรณีที่มีผู้ยื่นร้องยุบพรรคภูมิใจไทยเอาไว้
เริ่มจากข้อความแรกที่ว่า
‘โดยพบข้อพิรุธว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุข บริจาคเงินส่วนตัวเป็นทรัพย์สินประเภทงานวิจัย มูลค่า 2,770,000 บาท ในปี2562 และในนาม หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 4,800,000 บาท ปีเดียวกัน และจำนวน 6 ล้านบาท ในปี2565 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาภายหลังที่นายศักดิ์สยาม โอนหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุข ในปี2561 และไม่ปรากฏว่า ช่วงเวลาก่อนการโอนหุ้น นายศุภวัฒน์และหจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น บริจาคเงินทรัพย์สินอื่นใด ให้แก่พรรคภูมิใจไทย หรือมีความเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทยมาก่อน’
และอีกข้อความว่า
‘โดยนายศุภวัฒน์ เคยเบิกความว่า ก่อนหน้าที่จะรับโอนหุ้นไม่เคยบริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทย จึงเป็นข้อพิรุธสงสัย ว่านายศุภวัฒน์ และบริษัทหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ไม่เคยมีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ใด ๆ กับพรรคภูมิใจไทย แต่ภายหลังที่ผู้ถูกร้องโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์แล้ว พบว่าทั้งนายศุภวัฒน์และหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ให้กับพรรคการเมืองที่นายศักดิ์สยาม มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค
ดังนั้น จากข้อพิรุธ ประกอบกับพฤติการณ์แวดล้อม จึงเห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องกับนายศุภวัฒน์ ตกลงนำเงินของนายศักดิ์สยาม ไปทำธุรกรรมต่างๆ ในนามของนายศุภวัฒน์ โดยขั้นตอนสุดท้าย มีการนำเงินไปซื้อกองทุนในชื่อนายศุภวัฒน์ และขายกองทุน เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับนายศักดิ์สยาม เป็นเงินจำนวน 119,500,000 ล้านบาท เป็นของนายศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้อง
ดังนั้น เงินจำนวนดังกล่าวยังคงเป็นของนายศักดิ์สยาม ซึ่งนายศักดิ์สยามยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และดูแล หจก.แทนนายศักดิ์สยามมาโดยตลอด
จึงเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรี อยู่ในความดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าทางใดๆ ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 187 ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม จึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัว’
ตัดภาพกลับมาที่คำร้องของชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ที่ยื่นต่อ กกต. เอาไว้ในวันที่ 17 มีนาคม 2566 ซึ่งอยู่ระหว่างการตั้งอนุกรรมการสอบสวน ก็เป็นข้อมูลชุดเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไต่สวนและมีคำวินิจฉัยไปแล้ว
ส่วนเงินบริจาคเข้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีศักดิ์สยามเป็นเลขาธิการพรรค ที่ได้จากนศุภวัฒน์ หลังรับโอนหุ้นหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ต่อเนื่องกันหลายครั้ง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น ศุภวัฒน์ ไม่เคยบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กับพรรคภูมิใจไทยมาก่อนนั้น
นำมาสู่คำถามว่า เงินจำนวนดังกล่าวที่พรรคภูมิใจไทยรับมาจาก หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 72 หรือไม่
โดยมาตรา 72 บัญญัติไว้ว่า
‘ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย’
ประเด็นคือ เงินบริจาคที่พรรคภูมิใจไทยรับมานั้น เป็นเงินขาวหรือเงินดำ ตามความหมายของ มาตรา 72 หากเป็นเงินดำ คือรับบริจาคเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบ ก็จะนำไปสู่การยุบพรรค ตามมาตรา 92 (3) คือกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72
สุดท้ายหากมีการยุบพรรคเกิดขึ้นจริง ก็จะมีผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี โดยมีตัวอย่างจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ และพรรคไทยรักษาชาติ ที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญนี้
แค่นำกฎหมายที่มีอยู่มากางดูให้เป็นอนุสติ ส่วนใครจะให้ราคาหรือไม่ให้ราคา ก็ไปใคร่ครวญกันเอาเอง