หนี้เสียสินเชื่อรถ ระเบิดเวลาในตลาดรถมือสอง

23 ม.ค. 2567 - 08:36

  • หนี้เน่ารถมือสองกลายเป็นปัญหาที่ทับถมและกำลังกลายเป็นวิกฤต

  • ยอดผู้ทิ้งรถ ไม่ผ่อนต่อสูงถึงประมาณ 2 แสนล้านบาท

  • แนวคิด ‘กบต้ม’ กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตในที่สุด

economy-used-car-sale-SPACEBAR-Hero.jpg

ถ้าจะเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ว่า กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤตซึมลึก อย่างที่ หมอมิ้ง นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบไว้ว่ามีสภาพไม่ต่างอะไรกับ ‘กบต้ม’ ก็มีส่วนที่เป็นจริงในหลาย ๆ เรื่อง

วิกฤตซึมลึกที่เห็นภาพชัดเจนที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ วิกฤตหนี้ครัวเรือน ที่กำลังลุกลามไปมากขึ้นเรื่อยในหลาย ๆ ภาคส่วน บรรดาลูกหนี้ หรือ กบตัวน้อยในหม้อต้มที่เคยไม่รู้ร้อนรู้หนาวเริ่มรู้ซึ้งถึงอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้แตะจุดเดือดเข้าไปทุกที 

หนี้ก้อนใหญ่ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ คือ ระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ลูกหนี้จำนวนหลายแสนราย แต่มันยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงบรรดาสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และตลาดรถยนต์มือสองที่กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก 

ตลาดรถมือสองกำลังเผชิญสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ จากอาการ ‘ลอง-โควิด’ ของบรรดาลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่หมดสภาพหมดความสามารถในการชำระผ่อนค่างวด จนกลายเป็นหนี้เสียหรือ NPL ที่เพิ่มขึ้นทั้งเร็วและแรง ทำให้มีรถที่ถูกยึดและต้องเข้าสู่ตลาดประมูลจำนวนหลายแสนคัน

ขณะเดียวกันยังถูกกระแสความนิยมของ รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่เป็นตัวเปลี่ยนเกมหรือ Game Changer สำคัญที่ฉุดราคารถยนต์มือสองให้ยิ่งทรุดหนักลง 

หากดูจากตัวเลขของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ณ สิ้นเดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมา มียอดปล่อยสินเชื่อรถยนต์รวมกันทั้งระบบจำนวน 6.55 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.61 ล้านล้านบาท หรือราว19% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด

ในจำนวนนี้มีสินเชื่อที่มีปัญหาเป็นหนี้เสีย หรือ NPL สูงถึง 731,515 บัญชี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีทีแล้ว 11.9% ในแง่จำนวนบัญชี แต่ในด้านมูลค่าเพิ่มขึ้นมาถึง 22.4% หรือคิดเป็น 8% ของสินเชื่อรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราที่สูงจนน่าตกใจ

ที่น่าวิตกก็เพราะหากบรรดาลูกหนี้ไม่สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินหรือบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ได้ ก็จะต้องมีรถจำนวนถึงกว่า 7 แสนคัน ที่จะถูกยึดและถูกนำไปประมูลขายทอดตลาด และไหลเข้าสู่ตลาดรถยนต์มือสอง ซึ่งจะทำให้ราคารถมือสองปรับตัวลงอย่างแรงจากสภาพ Supply ล้นตลาด ในขณะที่มีความต้องการในตลาดลดลง จากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแรงขาดกำลังซื้อ และคนรุ่นใหม่หันไปสนใจ รถ EV มากกว่า เห็นได้จากยอดขายเมื่อปีที่แล้วสูงถึง 7.5 หมื่นคัน 

ยิ่งไปกว่านั้น หากไปดูสินเชื่อรถยนต์ที่กำลังจะมีปัญหา หรือ SM (Special Mention) ก็มีจำนวนสูงถึง 567,547 บัญชี เพิ่มขึ้นมาราว 10.9% ในขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นมาสูงถึง 2.16 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว11.6% ที่เปรียบเสมือน ‘สินามิ’ที่จะพัดถล่มมาอีกระลอกในอีกไม่นานนี้  

ทุกวันนี้ ถ้าไปดูที่ตลาดประมูลขายทอดตลาดรถมือสอง และปริมาณรถที่ถูกยึดและเข้าสู่ตลาดรถมือสองในเวลานี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงถึง 7 เท่าจากปกติ คือ จากเดือนละ 5 พันคัน เพิ่มขึ้นมาสูงถึงเดือนละ 3.5 หมื่นคัน และคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะลากยาวไปอีกนานอาจถึงราวกลางปีหน้า

ตลาดรถยนต์ในเวลานี้ โดยเฉพาะตลาดรถมือสองจึงอยู่ในสภาพช็อค และปั่นป่วนมากในเรื่องการกำหนดราคาขาย เพราะมี Supply เข้าสู่ตลาดทุกวัน ในขณะที่บรรดาธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ก็กำลังกุมขมับว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร 

มีความพยายามที่จะหาทางแก้ไขสถานการณ์กันเอง โดยมีแนวคิดในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ โดยธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์บางแห่งกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเปิดธุรกิจใหม่ ในการปล่อยเช่ารถยนต์มือสอง ทั้งรายวัน รายเดือน ไปจนถึงรายปี โดยใช้ Supply รถที่มีปัญหา NPL และถูกยึดมา หรือรถที่กำลังมีปัญหา SM ที่ผู้เช่าซื้อกำลังมีปัญหาอาจจะนำรถมาปล่อยเช่า เพื่อให้พอมีเงินจากค่าเช่าไปจ่ายค่างวดได้บางส่วน แต่จะสามารถดูดซับรถที่กำลังถูกยึดออกไปจากระบบมากน้อยแค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบ 

แต่หากจะถามกลับไปยังรัฐบาลว่าวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น รัฐบาลของ นายกฯ เศรษฐา ถุงเท้าหลากสี มีมาตรการอะไรที่จะช่วย ‘กบ’ ที่กำลังถูกต้มจนใกล้จะถึงจุดเดือดนี้อย่างไร คำตอบยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม เพราะรัฐบาลก็ยังคงอยู่ในอาการเหมือนกบตัวน้อยที่สับสนชีวิตที่ยังหมกมุ่นกับนโยบายแจกเงินหมื่นดิจิตอลที่ยังหาฝั่งไม่เจอ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์