เมื่อเกิด ‘สุญญากาศ’ เพราะฝั่งการเมืองยังไม่ส่งสัญญาณส่งใครมาคุมตลาดหุ้น บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงชิงจังหวะเสนอแต่งตั้ง อาจารย์ ‘กี๊ต’ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นประธานกรรมการ ตลท.คนใหม่ ต่อจาก ‘พิชัย ชุณหวชิร’ หวังตีกันคนจากฝั่งการเมือง
แต่คนในวงการตลาดทุนยังห่วงจะ ‘วุ่น’ หากฝั่งการเมืองไม่ ‘ไฟเขียว’ ปล่อยผ่าน อาจกระทบชิ่งไปถึงการเลือก ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่
คงต้องบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน (15 พฤษภาคม 2567) ในที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่มีมติเลือกเป็นเอกฉันท์เลือกให้ อาจารย์ ‘กิ๊ต ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์’ ขึ้นเป็นประธานกรรมการ ตลท.คนใหม่ ต่อจากพิชัย ชุนหวชิร ที่ลาออกไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นเรื่องไม่ ‘ปกติ’ ที่แม้แต่กรรมการตลาดฯ บางคนก็ยังแอบ **‘ซี๊ด’**ปากด้วยความหวาดเสียว ว่าหลังจากนี้อาจจะเกิด ‘สึนามิ’ จากฝั่งการเมืองตามมาหรือไม่
สำหรับคนวงในจะทราบดีว่าทั้งหมดเป็นความพยายามครั้งสำคัญที่จะ ‘ตีกัน’ ไม่ให้ฝ่ายการเมืองส่งคนของตัวเองเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานตลาดหลักทรัพย์คนที่ 19 โดยอาศัยจังหวะที่ฝ่ายการเมืองยังตั้งหลักไม่ทัน ในการที่จะส่งคนเข้ามานั่งในตำแหน่งสำคัญนี้ เพราะเพิ่งมีการปรับ ครม. และรมว.คลังพิชัย เพิ่งเข้าไปรับตำแหน่ง
เป็นที่น่าสังกตว่าในการประชุมบอร์ดตลาดฯ เมื่อวานนี้ ไม่ได้มีการบรรจุวาระดังกล่าวเพื่อพิจารณา แต่มีการ ‘เตรียมการล่วงหน้า’ เป็นอย่างดี โดยเริ่มจากมีการขอหารือในที่ประชุม เพื่อพิจารณาแต่งตั้งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยไม่ต้องรอการแต่งตั้งกรรมการคนใหม่มาแทน รมว.คลัง พิชัย โดยจะอาศัยเสียงโหวตจากกรรมการฯ ที่เหลืออยู่ 10 คน
มีการสอบถามความเห็นกันเล็กน้อย ซึ่งเสียงกรรมการฯส่วนใหญ่พิจารณาเห็นว่าสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอกรรมการฯ ใหม่ ที่จะมาจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ที่คาดว่าจะมีการเสนอชื่อมาในเดือนกรกฎาคม
เมื่อที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าสามารถเลือกประธานตลาดฯคนใหม่ได้ จึงมีการเสนอชื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อดีตประธานกรรมการ ‘บริษัท เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่’ จำกัด และเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง
มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านตลาดทุนมาอย่างยาวนาน และเข้ามาเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯที่มาจากการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2565
ให้กรรมการทั้ง 10 พิจารณา และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
ในที่ประชุมมีการสอบถามว่า ในการเสนอชื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ นั้นได้มีการแจ้งให้ รมว.คลัง พิชัย และคนในฝั่งการเมืองรับทราบหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีกว่า ตำแหน่งประธานกรรมการ ตลท.มักจะถูกส่งมาจาก ‘สายตรง’ หรือคนที่ได้รับ ‘ไฟเขียว’ มาจากฝ่ายการเมือง กรรมการตลาดฯบางคนจึงเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ซึ่งได้รับการแจ้งว่ามีการแจ้งให้ นายกฯ เศรษฐา และ รมว.คลัง รับทราบแล้ว
สำหรับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ (ประธานกรรมการ)
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย (รองประธานกรรมการ)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
นายคมกฤช เกียรติดุริยกุล
ม.ล. ทองมกุฎ ทองใหญ่
นายธิติ ตันติกุลานันท์
นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์
นายศุภโชค ศุภบัณฑิต
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย (กรรมการและผู้จัดการ)
รวมทั้งสิ้น 10 คน โดยตำแหน่งกรรมการตลาดหลักทรัพย์ อีก 1 ตำแหน่งที่ว่างลงนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต.
การตัดสินใจเลือกประธานกรรมการตลาดฯในคราวนี้จึงออกจะเป็นเรื่องที่ ‘ผิดปกติ’ พอสมควร ซึ่งคงต้องจับตามองปฎิกิริยาหลังจากมีการแต่งตั้งดังกล่าวว่า ฝ่ายการเมืองในปีกพรรคเพื่อไทยที่คุมด้านเศรษฐกิจโดยตรงจะมีท่าทีอย่างไรตามมา เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกระแสข่าวว่า จะมีการเสนอชื่อ ‘พิชัย นริพทะพันธุ์’ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองนายกฯ เศรษฐามานั่งในตำแหน่งนี้
ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องผิดปกติที่ฝ่ายการเมืองจึงไม่ ‘เบรก’ การแต่งตั้งไว้ก่อน ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า อาจจะเป็นเพราะภายในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ ค่อนข้างมีปัญหาความเป็นเอกภาพทางความคิดของทีมงานด้านเศรษฐกิจ
มีการตั้งข้อน่าสังเกตว่า ในระยะหลังๆที่ พิชัย มานั่งเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง ที่เคยเข้ามามีบทบาทในการเข้ามา ‘เคลียร์’ ปัญหาวุ่นๆในตลาดหลักทรัพย์ฯก่อนหน้านี้ เนื่องจากเคยนั่งในตำแหน่ง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯและได้รับการยอมรับอย่างมากสำหรับคนในวงการตลาดทุน กลับลดบทบาทและถอยห่างออกไป จนมีข่าวลือว่าเริ่มมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับนายกฯ เศรษฐา
จากนี้ไปยังต้องจับตามองว่า ฝ่ายการเมืองจะมีท่าทีอย่างไร ต่อการตั้งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่ และในการพิจารณาสรรหากรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่ แทน ภากร ปีตธวัชชัย ที่จะพ้นวาระในเดือนกันยายนนี้ ผลจะออกมาอย่างไร
หลังจากที่ในวันสุดท้าย( 15 พฤษภาคม) มีผู้ยื่นใบสมัครเข้ามามาก 7-8 ราย ทั้ง ๆ ที่ในรอบแรกไม่มีผู้เสนอชื่อ เนื่องจากเดิมมีความเชื่อว่าอาจจะมีการกำหนดคนมานั่งในตำแหน่งนี้จาก ‘ฝั่งการเมือง’ แต่เมื่อมีการแต่งตั้งประธานฯที่ไม่ได้มาจาก ‘สายตรง’ ของฝั่งการเมืองจึงทำให้มีผู้ที่สนใจสมัครมากขึ้นโดย มีตัวเต็งคือ ‘แมนพงศ์ เสนาณรงค์’ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ในปัจจุบัน
คงยากที่จะประเมินอนาคตของตลาดหลักทรัพย์ฯไทยในช่วงต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ต้องยอมรับว่า อาจเข้าข่ายก่อ ‘กบฏ’ เล็กๆ ที่อาจเกิด ‘สึนามิ’ ตามมาอีกหลายระลอก หากฝ่ายการเมืองมีความรู้สึกว่ากำลังถูก ‘ท้าทาย’ อำนาจ อีกไม่นานคงมีบทพิสูจน์...