Virtual Bank ธุรกิจแบงก์ของ ซีพี

5 มี.ค. 2567 - 08:09

  • Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา เริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

  • ล่าสุดแบงก์ชาติกำหนดหลักเกณฑ์ ผู้ขออนุญาตทำ Virtual Bank

  • ไม่จำกัดใบอนุญาตว่าให้กี่ราย หากเข้าหลักเกณฑ์ก็อนุมัติให้ทำได้เลย

economy-true-money-application-SPACEBAR-Hero.jpg

Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา คือ ธนาคารที่ให้บริการ ทำธุรกรรมการเงิน ได้ทุกอย่างเหมือนแบงก์พาณิชย์ที่เราคุ้นเคยกัน จะต่างกันตรงที่ไม่มีสาขา ธุรกรรมทุกอย่างทำผ่านระบบออนไลน์

กระทรวงการคลัง ออกประกาศหลักเกณฑ์  วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตตั้ง Virtual Bank เมื่อวานนี้ โดยรวม ๆ คือ ต้องมีทุน มีประสบการณ์ในการทำธนาคาร มีเทคโนโลยีที่ดี ปลอดภัย มีแผนธุรกิจชัดเจน ทำได้ และมีธรรมาภิบาล

ระยะเวลาในการยื่นขออนุญาตคือ 6 เดือน นับจากนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้พิจารณาว่า ใครจะได้รับใบอนุญาต โดยใช้เวลา 9 เดือน เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ผู้ขอต้องให้บริการภายใน 1 ปี จะเอาใบอนุญาตไปเก็บไว้เฉยๆไม่ได้  

สรุปแล้ว เราจะมีธนาคารใหม่ที่เป็นธนาคารไร้สาขา ตั้งแต่กลางปี 2568

‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า กระทรวงการคลัง ไม่จำกัดว่า  จะให้ใบอนุญาตกี่ใบ เพราะต้องการเปิดกว้างให้ผู้ที่มีประสบการณ์ มีศักยภาพ เข้ามามากที่สุด

เรื่อง Virtual Bank ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่แบงก์ชาติดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว เดิมจะเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็เลื่อนมาเรื่อย 

แบงก์ชาติ มีเป้าหมายว่า ในเบื้องต้นจะใบอนุญาตเพียง 3 รายก่อน ไม่อยากให้ตั้งเยอะ แล้วมีปัญหา ต้องตามแก้ เพราะจะมีหรือไม่มีสาขา ก็คือแบงก์เหมือนกัน ที่เอาเงินฝากของประชาชน มาหาดอกผล ดังนั้นต้องมีความมั่นคง วางใจได้

เป้าหมายใบอนุญาตแค่ 3 ใบ อาจดูขัดแย้งกับที่กระทรวงการคลังบอกว่า ให้ใบอนุญาตไม่จำกัด แต่สุดท้ายแล้ว แบงก์ชาติซึ่งเป็นคนตรวจข้อสอบ คือ ผู้ตัดสินว่า จะให้ใบอนุญาตกี่ราย 

สำหรับผู้ที่จะขอตั้ง Virtual Bank  ที่มีข่าวเป็นระยะ ๆ จนถึงวันนี้ มีอยู่ 2  รายคือ  ธนาคารกรุงไทยหรือเคทีบี จับมือกับ เอไอเอส และกัลฟ์

อีกรายหนึ่งคือ ซีพี

ความจริง ธนาคารทุกแห่งในตอนนี้ ก็เป็น Virtual Bank ไปแล้วครึ่งค่อนตัว แอปฯ Mobile Banking ที่ประชาชนค่อนประเทศ ใช้โอนเงิน จ่ายค่าสินค้าออนไลน์ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซื้อหน่วยลงทุน ซื้อหุ้นกู้ ซื้อพันธบัตร ซื้อหวย ก็คือ แพลตฟอร์มดิจิทัล ออนไลน์ ของ Virtual Bank นั่นแหละ

ที่ยังไม่มี หรือมีแล้ว ไม่ได้ใช้กันคือ สินเชื่อ ออนไลน์ ซึ่ง Virtual Bank จะมาเติมเต็มในส่วนนี้

ดังนั้น  ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่คงมีน้อยรายที่สนใจขอตั้ง Virtual Bank เพราะมีความเป็น Virtual Bankผสมกับ ธนาคารแบบดั้งเดิมที่ค่อยๆกลายร่างหายไปอยู่แล้ว 

ธนาคารกรุงไทย เป็นเจ้าของแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 30 ล้านคน ซึ่งมีพ่อค้า แม่ค้า รายย่อย ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างอิสระ ประชาชนที่มีรายได้น้อย ที่ใช้แอพฯเป๋าตัง เพื่อร่วมโครงการช่วยเหลือของรัฐ ตอนที่เกิดโควิด เป็นกลุ่มผู้ใช้ที่สอดคล้องกับ เป้าหมายการตั้ง Virtual Bankคือ เพื่อให้ประชาชนที่ไม่สามารถใช้บริการจากแบงก์ได้ เข้าถึงบริการทางการเงินโดยเฉพาะการขอสินเชื่อได้  เพราะVirtual Bank จะมีเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่หลากหลาย ยืดหยุ่นกว่า แบงก์ปกติ 

ธนาคารกรุงไทยจึงมีเหตุผลรองรับในการขอตั้ง Virtual Bank นอกเหนือจาก ความเป็นรัฐวิสาหกิจ  ที่ต้องสนองนโยบายของกระทรวงการคลัง 

ส่วนรายที่ไม่ได้เป็นแบงก์  การทำธุรกิจธนาคารไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ใครก็ทำได้  ยิ่งเป็นVirtual Bank ที่ทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องมีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ที่มีผู้ใช้หลายสิบล้านคนอยู่แล้ว เป็นแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัยสูง เท่าที่เห็นก็มีแต่ แพลตฟอร์มของค่ายมือถือ คือ เอไอเอส ทรูและดีแทค เท่านั้น ที่มีผู้ใช้มากพอ รองรับการทำ Virtual Bank

สำหรับ ซีพี  แม้จะไม่เคยทำธุรกิจธนาคารมาก่อน แต่ซีพี ได้ลงทุน พัฒนาแอพพลิเคชัน True Money โดยร่วมมือกับ Ant Group  ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มชำระเงิน ในเครือ อาลีบาบา ปัจจุบันทรู มันนี่ มีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 25ล้านคน นอกเหนือจากการใช้ชำระค่าสินค้า ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ไม่รับชำระผ่าน แอปฯ ธนาคารอื่น ผูกขาดให้ใช้ True Money เจ้าเดียว ยังมีใช้ในร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไป ใช้ชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ได้

ธุรกรรมที่ทำบนTrue Money  จึงมีความถี่และความหลากหลายมากกว่า แอปฯ เป๋าตัง ที่ปัจจุบันถูกใช้ซื้อหวยดิจิทัล เป็นหลัก ทำให้True Money  มีบิ๊กดาต้า ในมือที่จะถูกวิเคราะห์ โดย AI เพื่อออกแบบสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย การป้องกันความเสี่ยง สำหรับผลิตภัณฑ์การเงินได้อย่างแม่นยำ 

ร้านเซเว่น เอเลฟเว่น มีอยู่ประมาณ 14,000 ร้าน มีรายได้เฉลี่ยวันละ 70,000 บาทต่อร้าน  ใน 1 วัน มีเงินไหลเข้า เซเว่น เอเลฟเว่น เกือบ 1 พันล้านบาท  มากกว่า เงินฝากหลายธนาคาร และเป็นเงินที่ไม่มีต้นทุน เพราะเครดิตเทอมที่ เซเว่น เอเลฟเว่น จ่ายซัพพลายเออร์ คือ 60  วัน

กระแสเงินสดของเซเว่น จึงเป็นฐานเงินฝากต้นทุนต่ำ ที่จะทำให้ Virtual Bank ของซีพี  ใช้เป็นกลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยได้ 

ด้วยปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ Virtual Bank ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า จะมีแค่ 3 รายหรือมากกว่าก็แล้วแต่  แต่ที่จะแข่งขันกันได้ คือ เคทีบี บนแพลตฟอร์มเป๋าตังกับซีพี ในแอปฯ ทรูมันนี่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์