ประชามติ รัฐธรรมนูญใหม่เจอโรคเลื่อน!?

3 พ.ค. 2567 - 08:03

  • การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเจอสภาวะโรคเลื่อน

  • คณะทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ แถลงชัดต้องแก้ พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564

  • ระยะเวลาการแก้ไข และกลับเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชามติอย่างน้อย 6 เดือน

politics-constitution-parliamentary-meeting-SPACEBAR-Hero.jpg

คิดว่ามีเฉพาะนโยบายเรือธงเรื่องแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่เจอโรคเลื่อนแบบเลื่อนแล้วเลื่อนอีก และทำท่าจะเลื่อนต่อไปเรื่อย ๆ ล่าสุดกลายเป็นแฟชั่นลามมาถึง ‘การทำประชามติ’ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็พลอยเจอโรคเลื่อนไปด้วย

เมื่อคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติ ชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้น ออกมาแถลงเมื่อวานนี้(2 พฤษภาคม 2567) จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนถึงจะทำประชามติครั้งแรกได้ โดยจะเร่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำร่างแก้ไขกฎหมายที่คณะทำงานฯ ได้หารือร่วมกันไปเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นต้นไป

จากนั้น เมื่อผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นแล้ว ก็จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อสภาให้ทันในช่วงเปิดประชุมสมัยวิสามัญที่จะมีขึ้นต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการแก้ไขกฎหมายราว 5-6 เดือน เพราะจะใช้กระบวนการปกติ ไม่พิจารณา 3 วาระรวด เนื่องจากมีเนื้อหาสาระหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา และต้องรอวุฒิสภาชุดใหม่ด้วย

จึงทำให้ปฏิทินการทำประชามติเดิมที่จะให้มีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ต้องพักเอาไว้ก่อน และกว่าจะทำประชามติครั้งแรกได้น่าจะเป็นในช่วงปลายปีนี้

ส่วนประเด็นหลัก ๆ ที่จะให้มีการแก้ไขใน พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 ประกอบด้วย

1.กำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งอื่น

2.กำหนดรูปแบบการออกเสียงให้เกิดความสะดวกกับประชาชน ทั้งการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเลกทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น

3.กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงและต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

ส่วนการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ

สรุปคือ แก้หลักเกณฑ์จากเสียข้างมากสองชั้นให้เหลือชั้นเดียว และออกเสียงประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้งอื่นได้ รวมทั้งให้มีวิธีการออกเสียงผ่านทางช่องทางอื่นๆ ได้ด้วย เพื่อประหยัดงบประมาณ และตัดข้อกังวลเรื่องเสียงข้างมากสองชั้น จะได้ไม่มีปัญหาเรื่อง ตกม้าตาย ในตอนท้าย

ดูเหมือนฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลก็ ‘เห็นดีเห็นงาม’ ด้วยกับรัฐบาล เพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการทะลายกำแพงเสียงข้างมากสองชั้นลง แต่ขอให้รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน และขอให้เร่งเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยเร็ว ไม่ต้องรอให้เปิดสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2568 ในเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งยังขอให้ ‘ทบทวน’ คำถามในการจัดทำประชามติ ให้เป็นคำถามที่เปิดกว้าง จะทำให้มีโอกาสประชามติผ่านได้

การเลื่อนทำประชามติออกไปเที่ยวนี้ของรัฐบาล ไม่ว่าฝ่ายค้านจะมองโลกสวยอย่างไรก็ตาม แต่การกลับรถกลางถนนหนนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลถูกมองว่า ยื้อเวลา ให้ทอดยาวออกไปแบบมีนัยยะ

โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก จากนั้น ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ และคณะ ได้ออกมาตัดเกมด้วยการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ต่อรัฐสภา เพื่อหาเหตุส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมประชามติต้องทำกี่ครั้งกันแน่ ระหว่างนั้น ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ประธานคณะทำงานศึกษาฯ ก็ ‘ดึงเช็ง’ ขอรอฟังคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน

สุดท้าย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย จึงนำผลศึกษาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ พร้อมออกมาแจกแจงไทม์ไลน์การจัดทำประชามติ ครั้งที่ 1 - 2 - 3 แต่ก็มา **‘หักมุม’**ขอไปแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 เสียก่อนค่อยมาทำประชามติ

ถึงตอนนี้ ไม่ว่าใครจะเห็นดีเห็นงามกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ก็ตาม แต่เรื่องการทำประชามติคงมาถึงจุด ‘พลิกผัน’ อีกรอบ เพราะไหนจะต้องรอกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่ต้องให้ผ่านสองสภา และต้องรอวุฒิสภาชุดใหม่ที่ยังเป็น ‘วุ้น’ อยู่มาพิจารณา

ไหนจะยังมีปัญหาเทคนิคทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอีก หากมีคำถามเรื่องพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 ซึ่งตราโดยรัฐสภาเพราะเป็นกฎหมายที่อยู่ในหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ แต่พอเสนอแก้ไขกลับยื่นร่างแก้ไขต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เหมือนกฎหมายทั่วไป

ดังนั้น ต้องมาดูในตอนท้ายจะมีใครติดใจสงสัยประเด็นในเชิงเทคนิค จนต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกหรือไม่ หลังร่างแก้ไขผ่านการพิจารณาของทั้งสองสภาไปแล้ว จะทำให้ยิ่งล่าช้ากันไปใหญ่ แถมไม่มีหลักประกันว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

เมื่อการทำประชามติเจอกับโรคเลื่อนเข้าแบบนี้ โอกาสที่จะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีกราวสามปีของรัฐบาลชุดนี้  ความหวังของคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คงต้องถอยห่างออกไปอีกหลายก้าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์