JOY LIFE: คำพูดฆ่าคนได้ คำพูดบาดหัวใจลดทอนความมั่นใจ จนกลายเป็นโรคกลัวกระจก

24 ส.ค. 2566 - 07:30

  • โรคกลัวกระจก เป็นโรคในกลุ่มอาการวิตกกังวล เป็นโรคกลัวเฉพาะเจาะจง

  • สำหรับอาการในบางคนอาจจะมีอาการสั่นกลัว แต่บางคนอาจจะขวัญเสียเลยก็ได้

  • เพียงเพราะคำพูดที่ไร้การกลั่นกรองทางความคิด อาจจะสร้างบาดแผลลึกให้กับใครคนหนึ่ง จนไม่กล้าที่จะส่องกระจกอีกต่อไป

JOY-LIFE-Catoptrophobia-SPACEBAR-Thumbnail
เพียงเพราะคำพูดที่ไร้การกลั่นกรองทางความคิด อาจจะทำให้ใครคนหนึ่งมีบาดแผลทางจิตใจที่บาดลึกจนไม่สามารถใช้ชีวิตที่ปกติได้อีกต่อไป เพราะสภาพจิตใจของแต่ละคน มีนแข็งแรงไม่เหมือนกัน 

ลองนึกภาพ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่น่ารัก รักความสวยความงาม ไม่มีพิษมีภัยกับใครทำอะไรก็เป็นที่รัก แต่วันหนึ่งกลับถูกคนที่รู้สึกว่าไม่ถูกชะตากับเธอมาพูดใส่เธอว่า “หน้าตาแกไม่เห็นสวยเลย ส่องกระจกไปยังไงก็ไม่สวยขึ้นหรอก” และพูดใส่เธอซ้ำๆ จนวันหนึ่ง เธอกลับเชื่อคำพูดเสียดแทงเหล่านั้นแบบสุดหัวใจ และไม่กล้าที่จะส่องกระจกเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยให้ภาพลักษณ์ของตัวเองอีก 

แน่นอนว่าการส่องกระจกเพื่อจัดระเบียบภาพลักษณ์ ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนทำจนชิน เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี ในคราที่ต้องออกไปพบปะผู้คน และยังเป็นการเสริมบุคลิกภาพให้น่ามองด้วย แต่ถ้าจู่ๆ วันหนึ่งการส่องกระจกกลับกลายเป็นฝันร้ายของคนรักสวยรักงามขึ้นมา ชีวิตของคนคนนั้นจะเปลี่ยนไปตลอดกาล 

อาการตื่นกลัวการส่องกระจกนั้น มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Catoptrophobia หรือ โรคกลัวกระจก นั่นเอง เป็นโรคในกลุ่มอาการวิตกกังวล เป็นโรคกลัวเฉพาะเจาะจง ในบางคนอาจจะมีอาการสั่นกลัว แต่บางคนอาจจะขวัญเสียเลยก็ได้ โดยผู้ป่วยจะไม่ได้กลัวที่ตัวกระจกโดยตรง แต่จะกลัวเงาสะท้อนที่มองเห็นในกระจก ซึ่งโรคกลัวกระจก มักจะเชื่อมโยงไปยังโรคกลัวอื่นๆ ได้ด้วย เช่น Atelophobia โรคกลัวตัวเองไม่ดีพอ Cacophobia โรคกลัวสิ่งน่าเกลียด, Obesophobia โรคกลัวอ้วน, Demonophobia โรคกลัวปิศาจร้าย และ Phasmophobia โรคกลัวผี 

ในส่วนของสาเหตุการเกิดโรคกลัวกระจกนั้น เกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นตามที่กล่าวมาข้างต้นบนความก็เป็นได้ หรืออาจจะกลัวกระจกเพราะความเชื่อที่เชื่อมาเสียยาวนานว่า ถ้าหากส่องกระจกแตกจะโชคร้าย รวมไปถึงการเสพภาพยนตร์ และละครที่มีกระจกเป็นสื่อกลางในการเห็นผี หรือปิศาจก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กลัวได้เช่นกัน และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการของโรคกลัวกระจกคือ กลัวว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอีกมิติหนึ่งปรากฏกายขึ้นผ่านทางกระจก หรือเงาของตัวเองในกระจกขยับได้เองโดยที่ตัวตนจริงไม่ได้ทำตาม 

ซึ่งอาการของโรคกลัวกระจกก็จะประกอบไปด้วย อาการตื่นตระหนกตกใจ เสียขวัญ หวาดกลัว กรีดร้อง หายใจถี่ ปากแห้ง เหงื่อออกมากเกินไป ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว จนอาจจะเป็นสาเหตุให้หมดสติลงได้ แต่ว่าอาการที่กล่าวมานั้น ความรุนแรงจะขึ้นกับสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย 

ในส่วนของแนวทางแก้ไขนั้น อาจจะเริ่มจากการบำบัดด้วยตัวเอง โดยการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง และเลือกที่จะค่อยๆ เผชิญหน้ากับความกลัวตรงหน้า แต่ถ้าหากคิดว่าไม่สามารถควบคุมความกลัวของตัวเองได้ การไปพบแพทย์อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด  

สุดท้ายไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้เกิดอาการกลัวกระจก หากเกิดจากการได้รับฟังคำพูดที่บั่นทอน หรือเสียดแทงหัวใจ ก็อยากให้ผู้ที่กำลังกระทำตนแบบนี้อยู่ในหยุดลงซะ เพราะคำพูดที่แย่ๆ มันทำร้ายคน และมันฆ่าคนได้จริงๆ ไม่ว่าใครก็ไม่สมควรได้รับฟังคำพูดที่ไร้การกลั่นกรองออกมาจากความคิดที่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทำงานของสมองมาก่อนทั้งสิ้น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์