‘เริมขึ้นสมอง’ เพราะ Work-Life Balance พัง! อันตรายตายผ่อนส่งคนวัยทำงาน

30 มี.ค. 2568 - 23:30

  • เมื่อเริมไม่ใช่แค่แผลที่ปากอีกต่อไป แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมประสาทยกเคสผู้ป่วยหญิงเริมขึ้นสมอง เพราะเครียด พักผ่อนน้อย

  • Good Health and Well-being: เมื่อนิยามของ “สุขภาพดี” ไม่ได้หยุดอยู่ที่ร่างกายแข็งแรง

  • แนวทางการสร้าง Work-Life Balance เพื่อส่งเสริม Well-Being

brain-herpes-lack-of-work-life-balance-a-threat-to-working-people-SPACEBAR-Hero.jpg

“เริมขึ้นสมอง! โรคนี้มาจากไหน หมอเตือนพักผ่อนน้อย เครียดหนัก เชื้อซ่อนในร่างกาย ภูมิต้านทานตก อาจลุกลาม แนะพักผ่อนเพียงพอ ลดเครียด ออกกำลังกาย ลดเสี่ยงโรค”

โพสต์ในโซเชียลมีเดียของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ่านแวบแรกก็รู้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวคนวัยทำงาน และทำให้เราย้อนกลับมานึกถึงคำว่า “Work-Life Balance” คำฮิตติดหูที่ได้ยินบ่อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของ Good Health and Well-being

เมื่อ “เริม” ไม่ใช่แค่แผลที่ปากอีกต่อไป

ความเครียด การทำงานหนักมากเกินไป และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ใช่แค่ทำให้เราเหนื่อยล้า แต่ยังทำให้เราภูมิตก ร่างกายอ่อนแอ เกิดเป็น “เริม” ที่หลายคนอาจเคยเป็นที่ปาก ที่ใบหน้า แต่ล่าสุดมีข่าว “เริมขึ้นสมอง” ที่ถูกแชร์โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า สสส. ซึ่งกล่าวถึงกรณีศึกษาของ หมอประชาผ่าตัดสมอง-นายแพทย์ประชา กัญญาประสิทธิ์ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมประสาท ที่ยกเคสผู้ป่วยหญิงเริมขึ้นสมองเพราะเครียด พักผ่อนน้อย พร้อมเตือนระวังอันตรายถึงตาย

โดยมีใจความสำคัญว่า “เริม” กับ “งูสวัด” เป็นหอกข้างแคร่ เมื่อไหร่ที่ร่างกายเราอ่อนแอมันก็จะเห่อขึ้นมา หากขึ้นสมองอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ผู้ป่วยหญิงอายุ 65 ปี มาด้วยอาการไข้ต่ำๆ มา 3 วัน และมีอาการซึงลงเรื่อยๆ ญาติจึงพาส่งโรงพยาบาล CT scan พบว่ามีช่องน้ำเลี้ยงสมองโตมาก โดยได้ทำการผ่าตัดระบายเอาน้ำเลี้ยงสมองออกและส่งตรวจ พบว่าเป็น “เชื้อเริม” หรือ “เชื้องูสวัด” ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชอบแอบซ่อนอยู่กับเส้นประสาทของเรา เมื่อไหร่ที่ภูมิต้านทานเราต่ำ เครียด นอนดึก ทำงานมาก ไม่ได้พักผ่อนมันก็จะเห่อขึ้นมา เคสนี้ภูมิต้านทานน่าจะไม่ดีมากๆ จึงขึ้นสมองและทำให้สมองอักเสบ เมื่อช่องน้ำเลี้ยงสมองอักเสบก็จะสร้างน้ำเลี้ยงสมองมากกว่าปกติ

หมอจึงแนะนำการป้องกันโรคนี้คือ หมั่นทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทาน มีภูมิคุ้มกันดี ออกกำลังกาย ไม่เครียด เพราะความเครียดจะกดภูมิต้านทาน

brain-herpes-lack-of-work-life-balance-a-threat-to-working-people-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Work-Life Balance ส่งเสริม Well-Being

Work-Life Balance พัง! อันตรายตายผ่อนส่ง

คำว่า “เริมขึ้นสมอง” ฟังแล้วอาจจะดูเหมือนเรื่องเกินจริง แต่มันคือเรื่องจริงแบบที่หมอประชาบอกไป แค่เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ Work-Life Balance พัง เชื้อเริมที่แฝงอยู่ในร่างกายของเราอาจจะฉวยโอกาสนี้ลุกลามไปถึงสมอง ซึ่งผลที่ตามมาคือ ภาวะสมองอักเสบที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

ย้อนไปทำความเข้าใจเรื่อง Work-Life Balance

“Work-life balance” คือความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งถูกมองว่าเป็น “กุญแจ” สู่วิถีชีวิตที่มีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี โดยหลักๆ ก็เป็นแนวคิดที่ลดผลกระทบจากการทำงานหนักเกินไป ทะลายกำแพง “Work Hard” ที่ Work-ไร้-balance จนร่างพังและไม่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มมิติของการพักผ่อน ดูแลสุขภาพ หรือทำกิจกรรมที่ชอบเข้าได้ด้วย

ทำไม Work-Life Balance ถึงสำคัญ?

สังคมปัจจุบัน การทำงานกลายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าทำงานมากเกินไปจะนำไปสู่ความเครียดสะสมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 

รายงานที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่าการทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจขาดเลือดทั่วโลก ปีละ 745,000 คน

brain-herpes-lack-of-work-life-balance-a-threat-to-working-people-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: การทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจขาดเลือด

6 สัญญาณบ่งบอกว่า Work-Life Balance ของเราพัง

  1. ไม่มีเวลาให้ตัวเอง ทุ่มเทเวลาให้กับงานจนลืมออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ชอบ
  2. งานล้นมือ งานเก่าและใหม่สะสม จนไม่สามารถจัดการตารางเวลาได้
  3. อารมณ์แปรปรวน ความเครียดสะสมทำให้คุณหงุดหงิดและวิตกกังวล
  4. เบื่องาน ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน เพราะทำงานหนักจนพักผ่อนไม่พอ
  5. คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ กังวลว่าจะทำงานไม่ดีพอ จนทำให้หมกมุ่นกับงานมากเกินไป
  6. รู้สึกโดดเดี่ยว การทำงานมากเกินไปทำให้เราขาดเวลาในการติดต่อกับคนรอบข้าง

Good Health and Well-being: เมื่อนิยามของ “สุขภาพดี” ไม่ได้หยุดอยู่ที่ร่างกายแข็งแรง

แนวทางการสร้าง Work-Life Balance เพื่อส่งเสริม Well-Being

  • จัดลำดับความสำคัญของงานให้เป็น โดยทำ เร่งด่วนและสำคัญ > สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน > เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ > ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ เพื่อให้งานสำคัญสำเร็จ และลดงานค้างสะสม
  • กำหนดขอบเขตเวลาทำงาน พยายามตั้งเวลาที่ชัดเจนสำหรับการทำงานและการพักผ่อน และพยายามหลีกเลี่ยงการทำงานเกินเวลาหรือพกงานกลับบ้าน
  • กล้าปฏิเสธและขอความช่วยเหลือ ถ้างานเยอะเกินไป อย่าลืมขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานบ้าง
  • ให้ความสำคัญกับการพักผ่อน หรือเคารพเวลาพักผ่อน โดยใช้เวลาสำหรับการผ่อนคลายให้เต็มที่ เช่น การออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบ
  • สร้างกิจกรรมที่มีความหมาย การทำสิ่งที่รักหรือการทำงานอาสาสมัครจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตและทำให้รู้สึกดี
  • รักษาความสัมพันธ์ที่ดี ใช้เวลาคุณภาพกับครอบครัว เพื่อน และคนที่เรารัก ซึ่งจะช่วยเติมเต็มอารมณ์และจิตใจ
brain-herpes-lack-of-work-life-balance-a-threat-to-working-people-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: แนวทางการสร้าง Work-Life Balance เพื่อส่งเสริม Well-Being

ไม่ใช่แค่ธรรมชาติที่ต้องการสมดุลที่ดี แต่เราก็ต้องมี Work-Life Balance

ยุคนี้เราไม่ได้แค่ต้องทำงานให้ดี แต่ต้องดูแล “สุขภาพจิต” และ “สุขภาพร่างกาย” ของเราให้ดี การมี Work-Life Balance จึงไม่ได้แค่ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่ม Well-Being Lifestyle ที่ยั่งยืนและมีความสุขในชีวิต

ตอนนี้พร้อมหรือยังที่จะกลับมาจัดการ Work-Life Balance ของตัวเองให้ดี?

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์