ปัญหาปรากฏการณ์เกาะความร้อน ถ้ากรุงเทพฯ ร้อนกว่านี้ยังจะเป็นมหานครน่าอยู่อีกไหม?

24 เม.ย. 2568 - 05:19

  • ส่อง 5 ผลกระทบใหญ่ของเกาะความร้อนในเมือง (Urban heat island) ต่อคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ

  • รายงาน Shaping a Cooler Bangkok จุดประกายความหวัง เสนอแนวทางระยะสั้นและระยะยาว พลิกเกมให้กรุงเทพฯ กลับมาเย็นอีกครั้ง

ecoeyes-bangkok-urban-heat-island-SPACEBAR-Hero.jpg

หน้าร้อนปีนี้กรุงเทพฯ ไม่ได้แค่ร้อนอบอ้าวแบบที่คนไทยคุ้นเคย แต่คือร้อนระดับ “อันตราย” จนกรมอุตุนิยมวิทยา ต้องออกประกาศเตือนเป็นรายวันอย่างเป็นทางการว่า ดัชนีความร้อน (Heat Index) พุ่งทะลุ 50 องศาเซลเซียส พร้อมแนะนำให้เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในช่วง 11.00–15.00 น. ชี้ให้เห็นชัดว่าความร้อนในระดับนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่อาจคร่าชีวิตคนในเมืองได้

คำถามคือ นี่เป็นเพียงคลื่นร้อนชั่วคราว หรือมันคือสัญญาณเตือนว่า กรุงเทพมหานครกำลังกลายเป็นเตาอบขนาดยักษ์ที่ร้อนขึ้นทุกปี? แล้วที่เป็นแบบนี้มีสาเหตุมาจากอะไร?

ecoeyes-bangkok-urban-heat-island-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: An illustration of an urban heat island. Image credit: NASA/JPL-Caltech

รู้จักเกาะความร้อนในเมือง ปรากฏการณ์จริงที่เหมือนนิยายไซไฟ

ในทางวิชาการ ปรากฏการณ์นี้มีชื่อว่า Urban Heat Island (UHI) หรือเกาะความร้อนในเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของโดมความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นผิวเมือง เช่น อาคารสูง ถนนซีเมนต์ และคอนกรีต ที่ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำความร้อน ที่ดูดซับพลังงานจากแสงแดดในช่วงกลางวัน และค่อยๆ ปล่อยออกมาในตอนกลางคืน ทำให้อุณหภูมิในเขตเมือง สูงกว่าพื้นที่รอบนอกเฉลี่ย 1–3°C

ต้นเหตุของเกาะความร้อน มาจากการเปลี่ยนแปลงผิวดินจากธรรมชาติกลายเป็นโครงสร้างแข็ง เช่น อาคาร ถนน และลานคอนกรีต ที่ดูดซับความร้อน การขาดพื้นที่สีเขียว เช่น ต้นไม้ใหญ่ ที่สามารถดูดซับความร้อน ดักจับฝุ่น และสร้างความชื้นในอากาศ รวมถึงการใช้พลังงานในเมือง เช่น เครื่องปรับอากาศ ที่ปล่อยลมร้อนออกสู่ภายนอก ทำให้ความร้อนสะสมเพิ่มขึ้น และความหนาแน่นของประชากร ที่ส่งผลให้เกิดความร้อนจากกิจกรรมมนุษย์และพลังงานสะสมสูง ความร้อนระดับนี้ไม่ได้แค่ทำให้เหงื่อไหลไคลย้อย แต่ยังบั่นทอนสุขภาพ กระทบประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มค่าครองชีพอย่างมีนัยสำคัญ

5 ผลกระทบใหญ่ของเกาะความร้อนในเมืองต่อคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ

1.จำนวนวันที่ร้อนจัดจะเพิ่มขึ้น จากรายงาน Shaping a Cooler Bangkok โดยธนาคารโลก ระบุว่า หากไม่มีการแก้ไขใดๆ ภายในปี 2100 (พ.ศ. 2643) กรุงเทพฯ อาจต้องเผชิญกับวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35°C มากถึง 213 วันต่อปี (เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 153 วันต่อปี) เมื่อเทียบกับช่วงปี 1960–2000 (พ.ศ. 2503–2543) ที่มีเพียง 60–100 วันต่อปีเท่านั้น

2.การรับความร้อนแบบไม่เท่าเทียม เพราะความร้อนในแต่ละเขตไม่เท่ากัน อย่างพื้นที่อย่างปทุมวัน บางรัก ราชเทวี และพญาไท ซึ่งมีอาคารสูงแน่นขนัด ถนนซีเมนต์ การระบายออกที่ช้า และการขาดพื้นที่สีเขียว อาจกลายเป็นจุดเดือดของเมือง ที่บางจุดร้อนกว่าชานเมืองถึง 2.8°C

3.ความร้อนสามารถคร่าชีวิตได้ เกาะความร้อนในเมืองทำให้เราเสี่ยงต่อสุขภาพ ทรัพย์สิน และอาจถึงเสียชีวิต หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส กรุงเทพฯ อาจเผชิญกับการเสียชีวิตจากความร้อนกว่า 2,300 ราย โดยมีประชากรกลุ่มเปราะบางที่เผชิญความเสี่ยงสูง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (ราว 880,000 คน) ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี (มากกว่า 1 ล้านคน)

4.ความร้อนผลิตทำสายพานแรงงานหยุดชะงัก กระทบเศรษฐกิจหนัก ปี 2019 ในกรุงเทพฯ มีคนทำงานประมาณ 1.3 ล้านคน ที่ทำงานกลางแจ้งอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ หากอุณหภูมิเพิ่มเพียง 1°C คาดว่าผลผลิตแรงงานจะลดลง 3.4% หรือเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 44,000 ล้านบาทต่อปี

5.ค่าไฟฟ้าพุ่งปรี๊ด หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นปริมาณการใช้เครื่องปรับอากาศก็เพิ่มขึ้นตาม เมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น 1°C จะทำให้ค่าไฟทั้งกรุงเทพฯ พุ่งขึ้นอีก 17,000 ล้านบาทต่อปี

ecoeyes-bangkok-urban-heat-island-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: รายงาน Shaping a Cooler Bangkok

อยากพลิกเกมความร้อน เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?

ในรายงาน Shaping a Cooler Bangkok โดยธนาคารโลก และสำนักงานนโยบายแผนและการพัฒนาเมือง ได้เสนอแนวทางแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อพลิกสถานการณ์และทำให้กรุงเทพฯ กลับมาเป็นเมืองที่น่าอยู่และเย็นสบายขึ้น

มาตรการระยะสั้น

  • พัฒนาระบบแจ้งเตือนความร้อนให้ประชาชนรับรู้ความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ 
การพัฒนาแอปพลิเคชันหรือระบบเตือนภัยความร้อน จะช่วยให้ประชาชนรับทราบสภาพอากาศที่เสี่ยงต่อสุขภาพในช่วงคลื่นความร้อน และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันได้ทันที
  • ตั้งศูนย์พักคลายร้อน (Cooling Center) ในพื้นที่สาธารณะและชุมชน
สถานที่เหล่านี้จะให้ประชาชนสามารถหลบหลีกความร้อน แวะพักผ่อน หรือใช้บริการต่างๆ เช่น น้ำดื่ม ฟรีหรือราคาประหยัด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงเป็นพิเศษ
  • เพิ่มจุดบริการน้ำดื่มสะอาดในพื้นที่เสี่ยงความร้อนสูง 
การตั้งจุดบริการน้ำดื่มในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง เช่น ตลาด สถานีขนส่ง หรือในย่านที่มีคนหนาแน่น จะช่วยลดความเสี่ยงจากอาการขาดน้ำในช่วงที่อากาศร้อนจัด

มาตรการระยะยาว

  • ขยายโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและสีน้ำเงิน 
การสร้างสวนสาธารณะ แหล่งน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น โครงการสวนเบญจกิติ ที่ไม่เพียงช่วยให้พื้นที่นั้นสวยงาม แต่ยังช่วยลดอุณหภูมิในบริเวณโดยรอบ สร้างต้นไม้ริมถนน หรือพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มการระบายความร้อนจากพื้นดิน
  • ปรับกระบวนการวางผังเมือง วางแผนการใช้ที่ดินใหม่
การปรับกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการก่อสร้างเพื่อคำนึงถึงการระบายอากาศและการสะท้อนความร้อน ซึ่งจะช่วยลดการสะสมความร้อนในพื้นที่เมือง สร้างอาคารที่ช่วยสะท้อนความร้อนไม่ให้ดูดซับความร้อนเกินไป
  • จัดตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพการรับมือความร้อน 
การจัดตั้งกองทุนที่สนับสนุนโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองและการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยในการรับมือกับภาวะอากาศร้อน การสนับสนุนทางการเงินนี้จะช่วยให้เมืองสามารถลงทุนในโครงการลดความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

แล้วคนธรรมดาอย่างเราทำอะไรได้บ้าง?

แม้ปัญหานี้จะดูใหญ่ แต่คนตัวเล็กอย่างเราก็มีพลังมากกว่าที่คิด เช่น ปลูกต้นไม้บริเวณบ้านหรือบนระเบียง ใช้หลังคาหรือวัสดุสะท้อนความร้อน ใช้ขนส่งสาธารณะ หรือปั่นจักรยาน แทนการขับรถยนต์ส่วนตัว หรือร่วมผลักดันให้ภาครัฐออกนโยบายเมืองเย็นที่เป็นรูปธรรม

เพราะปรากฏการณ์เกาะความร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กำลังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราทุกคนต่างมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ และในฐานะผู้ร่วมเปลี่ยนแปลง

กรุงเทพฯ อาจร้อนขึ้นทุกปี แต่เรายังพอมีเวลา พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส เปลี่ยนเมืองร้อนให้กลายเป็นเมืองเย็น ด้วยนโยบายการวางผังเมือง และการร่วมแรงร่วมใจจากคนในเมืองทุกคน เพราะ “เมืองที่น่าอยู่” ไม่ได้เกิดขึ้นจากอากาศดีอย่างเดียว แต่มาจากการลงมือทำให้มันดีขึ้นอย่างยั่งยืน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์