'ยืดเยื้อกว่ากำหนด เกินเวลาไปกว่า 33 ชั่วโมง และเกือบจบไม่สวย' คือคำนิยามของการประชุม COP29 ในปี 2024
ปิดฉากรูดม่านการแสดงบนเวทีใหญ่ระดับโลกไปแล้ว สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 29 ในปี 2024 หรือ COP29 ที่ปีนี้จัดขึ้นในเมืองบากู อาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างการดำเนินการเชิงนโยบายกับความเป็นจริงของวิกฤตโลกเดือดในวันนี้
มีหลายแง่มุมที่ดูเหมือนจะเป็นการตบหน้าความหวังและคำมั่นสัญญาที่เคยมีมาในงานประชุม COP ครั้งก่อนๆ โดยบรรยากาศในช่วงเริ่มต้นของการเจรจา COP29 ค่อนข้างอึมครึม เพราะข่าวสารถูกบดบังด้วยข่าวการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ซึ่งปรากฏว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” คว้าชัยสมัยที่ 2 ก่อนจะตามมาด้วยเสียงสะอื้นในใจของคนในที่ประชุม COP29
การประชุมครั้งนี้ยืดเยื้อไปราว 33 ชั่วโมงจากกำหนดการที่ต้องเสร็จสิ้นในวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา และเกือบจะจบไม่สวย ก่อนที่ ไซมอน สตีล หัวหน้าอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะกล่าวว่า “เป็นการเดินทางที่ยากลำบาก แต่เราได้บรรลุข้อตกลงแล้ว”
แม้จะพูดถึงความต้องการเงินทุนมหาศาลเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การปฏิบัตินั้นดูเหมือนจะถูกบีบด้วยผลประโยชน์แห่งชาติและความเป็นจริงทางการเมืองที่บิดเบี้ยว ซึ่งผลที่ได้อาจจะช้ากว่าการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลก

จุดเริ่มต้นการประชุม COP และความล้มเหลวที่ซ้ำซาก
การประชุม COP เริ่มขึ้นหลังจากการลงนามในอนุสัญญา UNFCCC ที่ริโอ เดอ จาเนโร ในปี 1992 ซึ่งมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
ต่อมาในปี 1995 COP1 จัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี โดยมุ่งเน้นการประเมินสถานการณ์และสร้างพื้นฐานสำหรับการดำเนินการในอนาคต แม้จะยังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ไดข้อตกลงเบอร์ลิน (Berlin Mandate) ที่วางแนวทางให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องรับผิดชอบในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซในอนาคต เหมือนเป็นสารตั้งต้นเพื่อต่อยอดหัวข้อการประชุมในปีถัดๆ มา จนถึงการบรรลุข้อตกลงสำคัญๆ เช่น
- ข้อตกลงเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี 1997 ที่กำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนลงอย่างน้อย 5.2% ภายในปี 2012
- ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 ที่มีเป้าหมายหลักในการจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการต่อสู้กับ Climate Change ร่วมกันของสมาชิกโลก
การประชุม COP ที่ถูกจัดมาในทุกๆ ปีจึงไม่ใช่แค่การทบทวนสิ่งที่ทำมาแล้ว แต่เหมือนเป็นการสรุปผลวิจัยชีวิตมนุษย์ว่าเราพยายามไปถึงไหนแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมก็คือ “ความล้มเหลวที่ซ้ำซาก” ในการบรรลุเป้าหมายจริงๆ
นั่นคือการลดการปล่อยก๊าซที่ยังคงมีช่องว่างให้ใครหลายคนที่แอบ “ฟอกเขียว” ยิ้มกริ่มในใจ

2.5 แสนล้านปิดดีลไม่ลง ก่อนเคาะสุดท้ายได้ไป 3 แสนล้านดอลลาร์
ร่างเป้าหมายการเงินใหม่ (NCQG) ฉบับบ่ายวันศุกร์ (22 พฤศจิกายน) โดย มุคทาร์ บาบาเยฟ ประธาน COP29 สรุปการตัดสินใจเกี่ยวกับเป้าหมายการเงินซึ่งเรียกร้องให้ภาคีทั้งหมดระดมทุนอย่างน้อย 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2035 จากสาธารณะและเอกชนทั่วโลก และขยายเป้าหมายการระดมทุนร่วมกันจากประเทศพัฒนาแล้ว จาก 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2035 เพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน ร่างนี้ทำในวันศุกร์ที่บากูดูร้อนระอุราวกับโลกเดือดปุดๆ หลังการอ่านถ้อยแถลงจบลง
หลังจากนั้นก็เกิดการถกเถียง (ถ้าถกแขนเสื้อสู้กันได้คงมีบางประเทศทำไปแล้ว) ย้ำภาพการโต้กันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาเกี่ยวกับการแบ่งสรรปันเงินทุน และความยุ่งเหยิงของการร่วมมือในระดับโลก ถึงแม้คำมั่นสัญญาจะมากขึ้น แต่ยังคงมีช่องโหว่ระหว่างการเจรจากับการปฏิบัติจริง ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศเริ่มมีท่าที “ไม่สบายใจ” กับการเพิ่มภาระหนักขึ้น แต่ประเทศกำลังพัฒนายังคงกดดันให้เพิ่มเงินช่วยเหลือแบบด่วนๆ
ข้อสรุปที่ออกมาเบื้องต้นทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ เช่น ฮาร์จีต ซิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายการมีส่วนร่วมระดับโลกขององค์กรรณรงค์ไม่แพร่ขยายการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล บอกว่า “การไม่มีข้อตกลงเลย ยังดีกว่าการได้ข้อตกลงที่ไม่ดี”
ก่อนที่แพ็กเกจสุดท้ายจะเคาะออกมาว่า ชาติที่ร่ำรวยกว่ารับจบด้วยการให้คำมั่นว่าจะมอบเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี (หรือราว 10.2 ล้านล้านบาท) เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเตรียมพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ภายในปี 2035 ฉีกร่าง 2.5 แสนล้านดอลลาร์ และอัพเลเวลจากข้อตกลงเดิมที่ 1 แสนดอลลาร์ต่อปี ระหว่างปี 2020-2025 โดยจะเป็นเงินสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลและภาคเอกชน

เขียนเช็คเปล่าให้กับโลก
ในขณะที่บทสรุปพูดถึงการลงทุนมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาภูมิอากาศ แต่เงินก็ยังคงเป็นเพียงตัวเลขในกระดาษ เหมือน “เขียนเช็คเปล่าให้กับโลก” เพราะจริงๆ แล้วการตกลงเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่การพูดถึงตัวเลขและการแบ่งทุนเท่านั้น แต่มันยังเกี่ยวข้องกับการแบ่งเค้กระหว่าง “ประเทศที่ร่ำรวย” กับ “ประเทศที่ยังต้องการความช่วยเหลือ” ซึ่งก็เหมือนการต่อสู้ในซีรีส์ภาคต่อที่ไม่มีใครยอมแพ้
ประเทศกำลังพัฒนาอย่างปานามา ออกมาบอกว่าเงินที่เสนอมาให้ “มันยังต่ำเกินไป” ในขณะที่ประเทศฝั่งผู้จ่ายที่ร่ำรวยบ่นอุบว่า “มันแพงเกินไป!”

จีน และ อินเดีย สองตัวละครในหนังตลกร้าย
เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน! ใช้ไม่ได้กับความ (อยาก) เนียนของ จีน และ อินเดีย ที่ทำให้เราเห็นถึงความผิดเพี้ยนของการกระทำที่หลงใหลในตัวเลข แต่ไม่เคยเข้าใจกระบวนการที่แท้จริง
ขอเล่าย้อนกลับไปนิดว่า แต่เดิม (ในปี 1992) จีนและอินเดีย ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่ต้องมีภาระในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถรับการสนับสนุนทางการเงินได้ ทว่าปัจจุบันทั้งสองประเทศพลิกจากหน้ามือเป็นหลัง... โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับ 1 ของโลก และอินเดียรั้งประเทศเศรษฐกิจใหญ่ลำดับที่ 5 ของโลก ถ้าทั้งสองประเทศยังได้รับเงินสนับสนุน แล้วใครจะอยากจ่ายให้
ประเด็นนี้ทำให้การเจรจาดูเหมือนจะเป็นการพูดคุยกันในวงกลมที่ไม่มีจุดจบ เพราะมันจะวนลูปว่า “ใครจะทำตามคำสัญญาก่อน?” ซึ่งบทสรุปของเรื่องนี้คือ…ยังไม่มีข้อสรุป
One China : การเมืองเหนือโลก
ใน COP29 จีนยืนกราน One China โดยประกาศว่า “ไต้หวัน” เป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมในกิจกรรมของสหประชาชาติ หรือการเจรจาภายใต้ UNFCCC เพราะมีเพียงรัฐบาลจีนที่เป็นตัวแทนที่ชอบธรรมในเวทีโลก แม้การประชุมจะเน้นที่การแก้ไขปัญหาโลกรวน แต่จีนก็แสดงให้เห็นว่าการเมืองยังครอบงำทุกเวที แม้กระทั่งการเจรจาสภาพด้านสภาพภูมิอากาศ
โลกสวยด้วย COP29
ปฏิญญาลดการปล่อยมีเทนจากขยะอินทรีย์ : ดูทีท่าว่าจะเป็นเรื่องสำเร็จใน COP29 โดยมี 30 ประเทศร่วมลงนาม รวมถึงสหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, บราซิล, สหรัฐฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนปล่อยก๊าซมีเทนจากขยะอินทรีย์กว่า 50% ของโลก ความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมการเก็บรวบรวม คัดแยก และการจัดการขยะอินทรีย์ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส
โครงการ Baku Harmoniya : เปิดตัวในระหว่างการประชุม COP29 เป็นความพยายามระดับโลกในการสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนชนบท ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และพันธมิตรระดับโลก จากโปรแกรมทั่วโลกกว่า 90 รายการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเกษตรที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน เสริมเกราะความมั่นคงทางอาหาร การอนุรักษ์น้ำ และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน
Carbon Markets : การใช้ประโยชน์จากตลาดคาร์บอน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ตามมาตรา 6 ในความตกลงปารีส อนุญาตให้ประเทศต่างๆ ซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศได้ โดยจะต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน และไม่ก่อให้เกิดภาระเพิ่มเกินจำเป็น แม้จะมีความคืบหน้าในประเด็นนี้แต่ก็ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบและความน่าเชื่อถือของระบบคาร์บอนเครดิตอยู่ไม่น้อย
เบียร์จากน้ำเสียเติมสุข : เบียร์ที่ผลิตจากน้ำเสียของบริษัทสิงคโปร์ได้รับความสนใจอย่างมากในงาน COP29 โดยผู้เข้าร่วมการประชุมแห่ไปชิมเบียร์ที่ทำจากน้ำเสีย NEWater (ซึ่งผ่านการบำบัดแล้วนะ) ส่วนหนึ่งของแคมเปญอนุรักษ์น้ำของสิงคโปร์ ที่ไม่เพียงแต่เป็นนวัตกรรมน่าสนใจ แต่ยังช่วยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรีไซเคิลน้ำในยุคที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำ โดยเบียร์นี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานน้ำแห่งชาติสิงคโปร์อย่าง PUB และ Brewerkz ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ท้องถิ่น ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 2018 และเปิดตัวต่อสาธารณชนใน 2 ปีที่แล้ว
“หมูเด้ง” ฮิปโปเซเลบจากไทยเรียกรอยยิ้ม : ที่พาวิลเลียนไทยใน COP29 ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน นอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นการนำเสนอกลยุทธ์และการดำเนินการของประเทศในการรับมือกับโลกร้อน ทั้งด้านนโยบาย เทคโนโลยี การดำเนินการ และการเงิน พร้อมทั้งจัดแสดงนวัตกรรมที่เน้นการลดก๊าซเรือนกระจกและการดักจับคาร์บอนฯ ภายในงานยังมีการส่งเสริมการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของไทยผ่านกิจกรรมและของที่ระลึกจากสัตว์ของไทย เช่น หมูเด้ง เซเลบฮิปโปจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ที่เรียกรอยยิ้มล้างใจเรื่องเครียดๆ ไปได้พอสมควร

การเตือนใจจากตัวเลข สถิติโลกไม่เคยโกหก
แม้การเจรจาและการแสดงของผู้นำโลกในเวทีนี้จะเป็นไปอย่างชวนฝัน แต่ตัวเลขสถิติอาการของโลก “ไม่เคยโกหก” โลกเรากำลังร้อนขึ้นจริง ความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติกำลังทวีความรุนแรง แสดงให้เห็นว่าไม่มีทางที่มนุษย์จะหลีกเลี่ยงจากการสูญเสียครั้งใหญ่หากไม่จัดการกับสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง
อีกตัวเลขที่กระทบคนในงาน COP29 ตรงๆ คือราคาอาหารที่ถูกร้องเรียนว่าจะแพงไปไหน เช่น อเมริกาโน่กับนมถั่วเหลืองราคา 360 บาท หรือเบอร์เกอร์วีแกนราคา 789 บาท ซึ่งผู้จัดงานโต้ว่าสมเหตุสมผล บอกแล้วว่าตัวเลขไม่เคยโกหก
ทางแยกของมนุษย์กับการเขียนประวัติศาสตร์ครั้งใหม่
ภาพใน COP29 เป็นการย้ำเตือนว่ามนุษย์ยืนอยู่ในจุดแยกที่สำคัญ โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในวันนี้จะกำหนดอนาคตของโลกในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า หากมนุษย์ยังคงมองแต่ผลประโยชน์ของตนเองแล้วล้มเหลวในการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็จะกลายเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความล้มเหลวทางศีลธรรมและสิ่งแวดล้อม
ในที่สุดความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ “โลกจะไม่รอเรา” และการกระทำของวันนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า...เราจะทิ้งโลกแบบไหนให้คนรุ่นต่อไป

ย้อนกลับไปเกาะติดวิกฤตโลกรวนกับเรื่องป่วนๆ ใน COP29 ที่ทำโลกร้อนๆ หนาวๆ พร้อมตั้งตารอว่าปีหน้า COP30 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพจะรุ่ง (เรือง) หรือรุ่ง (ริ่ง) ซึ่งก็เรายังไม่อาจคาดการณ์ได้ เพราะบรรดาผู้นำต่างทำให้เราเห็นแล้วว่า “อนาคต” กับ “ความเพ้อฝัน” กั้นไว้แค่เส้นบางๆ