“ดอกไม้” สื่อรักวาเลน์ไทน์ที่ให้แทนใจจะยังคงสดได้กี่วัน? นั่นแล้วแต่วิธีการเก็บรักษา ส่วนที่นิยมทำกันมากในอุตสาหกรรมร้านดอกไม้ คือการใช้ “โอเอซิส” หรือฟองน้ำปักดอกไม้สีเขียวๆ เพื่อช่วยยืดอายุดอกให้สดนานขึ้น ใช้เป็นแกนปักขึ้นช่อ หรือใส่ในภาชนะและเติมน้ำให้ดอกไม้คงสภาพความสวย แต่ดอกไม้เมื่อหลุดจากต้นก็ไร้รากดูดซึม และนับถอยหลังเวลาที่จะแห้งเหี่ยวร่วงโรย

พูดถึงอุตสาหกรรมดอกไม้ เราก็จะนึกถึงการเลือกดอกไม้ดอกโตๆ กลีบใหญ่ๆ สีสันสวยๆ บ้างก็มีกลิ่นหอม แต่เบื้องหลังที่มาคือการเร่งปุ๋ยเพื่อตัดขายให้ทันเทศกาลแห่งความรัก ผ่านกรรมวิธีอาบรมน้ำยาเคมีเพื่อให้ดอกมีอายุยืนยาว และเนื่องจากดอกไม้เป็นพืชอายุสั้น ดังนั้นการขนส่งจึงต้องทำแบบด่วนที่สุดโดยเครื่องบิน หมายความว่าตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง อุตสาหกรรมดอกไม้สร้างรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ นับไม่ถ้วน
แต่เราก็ซื้อถือกันวันวาเลนไทน์
และเมื่อหมดช่วงเวลาสดสวย ดอกไม้ก็กลายเป็น “ขยะ”
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีของที่กำจัดยากอย่าง “โอเอซิส”

“โอเอซิส” ปลอมตั้งแต่ชื่อ
Oasis คือพื้นที่เขียวอันอุดมสมบูรณ์ หรือพื้นที่ชุ่มชื้นที่มีพืชพันธุ์ต่างๆ ขึ้นอยู่โดยรอบ นั่นคือความหมายที่ถูกต้อง แต่ “โอเอซิส” หรือฟองน้ำที่ปักดอกไม้ซึ่งเราเรียกกันติดปาก จริงๆ แล้วชื่อของยี่ห้อ (คล้ายที่เราเรียก “แฟ้บ” แทนผงซักฟอก) ส่วนชื่อจริงของมันคือ Floral Foam หรือ Phenol Formaldehyde Foamแต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร ฟองน้ำปักดอกไม้ก็คือสิ่งที่ทำมาจาก “พลาสติก” ที่เรียกว่า Phenolic Resin จับตัวเป็นก้อน และพร้อมแตกสลายตัวเพื่อเป็นพลาสติกชิ้นล็กๆ หรือ “ไมโครพลาสติก”
ไมโครพลาสติกถูกพบแล้วทุกที่
แทบทุกที่บนโลกมี “ไมโครพลาสติก” ไม่เว้นแม้แต่บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ณ ความสูง 8,440 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เศษพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อย ถูกค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักร และนั่นยังสูงไม่พอ เพราะมีการค้นพบไมโครพลาสติก “บนเมฆ” โดยนักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่น
แน่นอนว่าบนพื้นดินเราเหยียบ ริมฝั่งแม่น้ำ ชายหาด หรือจะดำดิ่งไปใต้ทะเลลึก ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ ก็พบไมโครพลาสติก ทำให้ปัญหาโลกร้อนรุนแรงขึ้น ทั้งยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาจเข้าใจผิดว่าพลาสติกจิ๋วเหล่านี้คือ “อาหาร”

“ฟองน้ำปักดอกไม้” อันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ละอองหรือเศษของฟองน้ำที่ปักดอกไม้ สามารถทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ ซ้ำร้ายหากกำจัดผิดวิธีโดยการเผาทำลาย ควันจากการเผา Phenolic Resin ยังส่งผลเสียโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ และเป็นสารก่อมะเร็ง
ในฟองน้ำปักดอกไม้มี Phenolic Resin ซึ่งไม่ละลายน้ำ และไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ เมื่อมันแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เกือบเป็นผง เศษเล็กๆ เหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะต่อแหล่งน้ำ สารเคมีจากพลาสติกเหล่านี้ทำลายคุณภาพของแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้สัตว์ในบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ
ฟองน้ำปักดอกไม้ทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธี
ฟองน้ำปักดอกไม้ทิ้งจัดเป็นขยะหรือวัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เนื่องจากตัววัสดุเป็นรูพรุน เมื่อแตกออกจากกันแล้วนั้นก็จะอุ้มน้ำได้น้อย ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ดังนั้นเมื่อใช้งานเสร็จ ควรแยกดอกไม้และวัสดุอื่นๆ เช่น เข็มหมุน ไม้เสียบ ออกจากตัวฟองน้ำแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง ใส่ในถุงพลาสติกผูกปากให้แน่นก่อนทิ้ง หรือสามารถส่งไปกำจัดได้ที่ บริษัท N15 Technology ติดตามได้ในชื่อเพจ “ขยะกำพร้า” ที่อยู่ 700/754 ม.1 ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160 ฟองน้ำปักดอกไม้ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้หากเรามีขยะใดๆ ที่สามารถตัดให้ขาดและเผาติดไฟได้ ก็สามารถนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินเพื่อเผาในเตาเผาปูนซีเมนต์ได้เช่นกัน
แต่ดีที่สุดคือการที่เราเลือกจะไม่ใช้ “โอเอซิส” เพื่อลดโอกาสการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก และภาระการกำจัด แต่เปลี่ยนมาใช้วัสดุจากธรรมชาติทดแทนในการปักดอกไม้ เช่น หยวกกล้วย จะดีกว่า
เรายังเชื่อเสมอว่า ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ดอกไม้ก็เช่นกัน และเราคงไม่อยากใช้ความรักเป็นข้ออ้างในการทำร้ายธรรมชาติหรือทำให้สุขภาพของตัวเองแย่ลง เพราะมันไม่คุ้มหรอกว่าไหม?