ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
วิธีที่ 6 Think ก่อนทิ้ง (หยุดส่งมรดก “ไมโครพลาสติก” ให้คนรุ่นหลัง)
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว “ทุกที่” มีไมโครพลาสติก!!
แนะนำ : หลักการ 7Re หนทางนำพาโลกสู่ทางออกการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)
เชื่อไหมว่าแทบทุกที่บนโลกมี “ไมโครพลาสติก!” จนเรียกได้ว่าไกลสุดสายตา (ไม่ต้อง) หาก็เจอ อย่างที่สูงเสียดฟ้าบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ณ ความสูง 8,440 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ไมโครพลาสติกก็ถูกค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์สหราชอาณาจักร
บนเมฆ ก็ตรวจพบโดยนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น จะดำดิ่งไปใต้ทะเลลึก หรือเขตแดนไกลปืนเที่ยงในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ก็พบ “ไมโครพลาสติก!”
หากมองว่าไกลตัวก็ไม่ปฏิเสธ แล้วถ้าบอกว่าแม้แต่ในอาหารที่กิน ดินที่ย่ำ ในเลือด ปอด สมอง หรือลึกๆ อย่างในอัณฑะ (ซึ่งใกล้ตัวมากสุดๆ) เจ้าสิ่งนี้ก็อยู่ได้และมีงานวิจัยยืนยันแล้วว่า พบจริง!!
ตั้งแต่พลาสติก (โพลิเมอร์สังเคราะห์) เกิดขึ้นบนโลกราวปี 1907 โดย Leo Hendrick Baekeland นักเคมีชาวเบลเยียม-อเมริกัน เป็นเวลา 118 ปีที่สั่งสม บัดนี้เหมือนได้เวลาแสดงแสนยานุภาพ จากการแตกตัวเป็นเสี่ยงๆ สมชื่อ “ไมโครพลาสติก” ที่มีขนาดเล็กอยู่ในช่วง 1 นาโนเมตร จนถึง 5 มิลลิเมตร
การปรากฏตัวของไมโครพลาสติกในยุคเรา อาจเป็นเพียง “เศษเสี้ยว” จากพลาสติกที่ถูกทิ้ง เพราะโพลิเมอร์สังเคราะห์เหล่านี้ใช้เวลาในการย่อยสลายนานหลักร้อยถึงพันปี อย่าง PET ใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี ส่วน PVC อาจใช้เวลาย่อยสลายกว่า 1,000 ปี ในขณะที่เราใช้ถุงพลาสติกโดยเฉลี่ยเพียง 12 นาทีเท่านั้น
หากเจาะแค่ในประเทศไทย กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในตะกอนดินบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง นั่นแปลว่า “มันอยู่บนดินที่เราเหยียบ”

ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง นําปลาทูของทะเลไทยมาสุ่มตรวจ พบไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทู เฉลี่ย 78 ชิ้นต่อตัว ดังนั้น “มันจึงอยู่ในกระเพาะอาหารเมื่อเรากิน”
จะว่าไปเรื่องนี้ไทยก็ทัดเทียมนานาประเทศ เพราะอิตาลี พบไมโครพลาสติกในผลไม้และผักบางชนิด เช่น แอปเปิล ลูกแพร์ บร็อกโคลี และแครอท ส่วนสหราชอาณาจักร เจอในหอยแมลงภู่ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต

WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)
ไมโครพลาสติกกับเรื่องโลกร้อน คือผลที่เกี่ยวพันกันแบบแยกไม่ออก ไม่ใช่แค่การผลิตพลาสติกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้ง ที่ถูกเผา ทว่า แรงกระเพื่อมของ “อณูเล็กๆ” เมื่อมันแตกตัวก็ร้ายพอๆ กับไฮดราที่ฆ่าไม่ตาย ยิ่งทำลายยิ่งเพิ่ม
มลพิษจากไมโครพลาสติกเป็นปัญหาที่กระทบโดยตรงกับป่าชายเลน Blue Carbon ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการชะลอวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพราะไปรบกวนกระบวนการดูดซับออกซิเจน คุกคามการเจริญเติบโตและการขยายตัวของพื้นที่ป่า เป็นภัยกับระบบนิเวศ ทำให้ปัญหาโลกร้อนรุนแรงขึ้น ทั้งยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาจเข้าใจผิดว่าพลาสติกจิ๋วเหล่านี้คือ “อาหาร”

ส่วนอาหารจริงๆ ที่คนกินเข้าไป สรุปยอดรวมจากการศึกษาในปี 2020 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) พบว่าคนเรากินไมโครพลาสติก 5 กรัมต่อสัปดาห์ คิดเป็น 20 กรัมต่อเดือน หรือ 240 กรัมต่อปี เทียบเท่ากับเขมือบบัตรเครดิต 1 ใบเต็มๆ ทุกปีและอาจเพิ่มขึ้นทุกขณะ
แล้วเราก็พบมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- ปี 2020 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International พบไมโครพลาสติกใน “รกเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์”
- ปี 2022 วารสาร Environment International ระบุพบอนุภาคพลาสติกใน “เลือด”, นักวิทยาศาสตร์ชาวตุรกี พบไมโครพลาสติกอยู่ใน “เซลล์สมอง”, วิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Polymers พบไมโครพลาสติกใน “น้ำนมแม่” เป็นครั้งแรก, ทีมนักวิจัยสหรัฐ พบไมโครพลาสติกอยู่ในเนื้อเยื่อ “ตับ” ของมนุษย์
- ปี 2023 การศึกษาของศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพนิวเม็กซิโก ยืนยันว่า “รก” มีไมโครพลาสติกปะปนจริง
- ปี 2024 งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ระบุว่าไมโครพลาสติกอาจเข้าไปถึงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อนของปอด เช่น เยื่อหุ้มปอด และถุงลมได้, นักวิทย์ฯ ศึกษาอัณฑะของมนุษย์ (ที่ตายแล้ว) 23 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีไมโครพลาสติก โดยพบมากถึง 12 ชนิด, นักวิทย์ฯ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่า พบไมโครพลาสติกในตัวอย่างน้ำอสุจิ พร้อมระบุว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลง
ชัดเจนแล้วว่า “ไมโครพลาสติก” กลายเป็นภัยเงียบที่คืบคลานอยู่ในร่างกายและรอวันสำแดงฤทธิ์

HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)
การก้าวข้ามปัญหาเรื่องมลพิษจากไมโครพลาสติกในระดับโลก เหมือนยังวนในอ่างจากุชชี่ (ขอหรูหน่อย) ผลการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 หรือ INC-5 ล่าสุด ณ เมืองปูซาน เกาหลีใต้ นานาประเทศยังเสียงแตก และการเจรจายังหาข้อสรุปไม่ได้เลย
หากหวังพึ่งความร่วมมือระหว่างนานาชาติ เราอาจลงเอยด้วยการกินบัตรเครดิต 5-10 ใบในอนาคต แต่ถ้าเริ่มที่ตัวเรา ขยายไปในครอบครัว ก่อตัวในชุมชน ผลอาจออกมาสวยหรูกว่า ด้วยการมาลองคิดใหม่ ทำใหม่ ตามแนวคิด 7 Re วิธีลดขยะที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น
- #Refuse ปฏิเสธบรรจุภัณฑ์เพิ่มมลพิษ Say No ให้ Single-use Plastic
- #Reduce ลดถุงซ้อน ลดการใช้โดยไม่จำเป็น
- #Reuse ใช้แล้ว ใช้อีก ใช้คุ้ม ไม่ฟุ่มเฟือย
- #Recycle แยกขยะให้เป็นนิสัย เพื่อส่งขยะไปเกิดใหม่ได้อีก
- #Refill เลือกแบบเติมได้ ไม่เพิ่มขยะเกินความจำเป็น
- #Repair ซ่อมแซม เซฟเงินในกระเป๋า เซฟเรา เซฟโลก
- #Return ส่งคืนกลับไปให้หมุนเวียน ทำให้เกิดการวนทรัพยากรไปใช้ซ้ำ
นี่คือแนวคิด 7 Re แนวทางที่พูดง่ายแต่ทำยาก หากเราลอง ReThink ทบทวนใหม่ เรื่องเหล่านี้ “ไม่ยาก” เพียงแค่ต้องทลายความ “เคยชิน” แล้วทำเทรนด์รักษ์โลกให้เป็นนิสัยใหม่…หลายคนเริ่มแล้ว เราล่ะ! เริ่มกี่โมง?

ถ้าเรายังคิดไม่ได้ ไม่ลงมือทำ บางทีสำนวน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อาจสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานใหม่ในเวอร์ชั่น
“ในน้ำมีปลา ในท้องปลามีไมโครพลาสติก ในนามีข้าว ในจานข้าวมีไมโครพลาสติก”
...ถึงวันนั้น รุ่นเราคงไม่อยู่แล้ว แต่ก็ทิ้งเรื่องหดหู่ไว้เป็น “มรดก“ ให้ลูกหลานสาปส่ง