ฟาสต์แฟชั่นสั่นสะเทือน หลังสหรัฐฯ ยกเลิก De Minimis หนุนอเมริกันชนบริโภคสินค้ายั่งยืน

10 เม.ย. 2568 - 04:11

  • สหรัฐฯ ยกเลิกกฎหมาย De Minimis ปิดช่องโหว่การนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนที่ไม่ต้องเสียภาษี คุมการเติบโตของฟาสต์แฟชั่นที่ไม่ยั่งยืน

  • หนึ่งในเรื่องดี(ที่มีน้อย) การปรับขึ้นภาษีอาจช่วยลดการบริโภคเกินจำเป็นของคนอเมริกัน และกระตุ้นให้หันมาเลือกสินค้าที่ยั่งยืนมากขึ้น

ecoeyes-how-trumps-de-minimis-tax-repeal-affects-fast-fashion-SPACEBAR-Hero.jpg

หากพูดถึงเรื่องของ ฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) หลายคนคงนึกถึงเสื้อผ้าใหม่ๆ แฟชั่นตามกระแสที่มาเร็วไปเร็ว ราคาถูก แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าปริมาณการบริโภคฟาสต์แฟชั่นที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ กำลังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตขยะสิ่งทอ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป?

การยกเลิก De Minimis ช่วยปิดช่องโหว่ สกัดสินค้าฟาสต์แฟชั่นทะลักเข้าสหรัฐฯ

นโยบาย America First ปรากฏข้อดีไม่กี่อย่างหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศปลดแอกอเมริกัน หนึ่งในนั้นคือการประกาศเลิก De Minimis หรือยกเลิกข้อยกเว้นทางศุลกากร ที่กำหนดว่าสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำ ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบศุลกากรอย่างละเอียด

ในขณะที่หลายคนอาจคิดว่าการยกเลิกกฎหมายนี้เพียงแค่เปลี่ยนแปลงการนำเข้าสินค้า แต่หากเรามองลึกลงไป การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นคำตอบที่สำคัญในการลดการบริโภค “ฟาสต์แฟชั่น” ที่เกินความจำเป็น และการหยุดยั้งกระแสสินค้าราคาถูกที่ทำให้เสื้อผ้าถูกทิ้งและกลายเป็นขยะมหาศาล

ข้อมูลจาก Nomura Holdings ชี้ว่าการส่งออกผ่านช่องทางนี้คิดเป็นมากกว่า 1 ใน 10 ของมูลค่าการส่งออกจีนไปยังสหรัฐฯ ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) ระบุว่าในปีงบประมาณ 2024 มีการส่งสินค้าภายใต้ De Minimis ถึง 1.4 พันล้านชิ้น เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2022 ส่งผลให้แรงขับหลักคือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนอย่าง Temu และ Shein ที่ใช้กลยุทธ์ “ลดราคาสุดขีด” เพื่อดึงดูดผู้บริโภคอเมริกัน และกลยุทธ์นี้ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เข้าถึงสินค้าแฟชั่นราคาถูกระดับ “ซื้อได้ทุกวัน” โดยไม่เสียภาษีนำเข้าแม้แต่ดอลลาร์เดียว

โดยประกาศยกเลิกกฎหมาย De Minimis ซึ่งเคยอนุญาตให้สินค้าจากจีนที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์ สามารถนำเข้ามาในสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษี ครอบคลุมสินค้าฟาสต์แฟชั่นและสินค้าราคาถูกจากแพลตฟอร์มจีนแบบเต็มรูปแบบ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ไม่เพียงแค่กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลต่อวิธีการเลือกบริโภค การรับมือกับปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นสั่นสะเทือน เพราะต้องเผชิญความท้าทายในการปรับตัวสู่ความยั่งยืนเพื่อโลกที่ดีขึ้น

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-stop-fast-fashion-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: วิกฤตฟาสต์แฟชั่นและการสะท้อนผลกระทบสู่โลก

วิกฤตฟาสต์แฟชั่นและการสะท้อนผลกระทบสู่โลก

Fast Fashion เร็ว! แรง! ทะลักตู้! อย่างที่เคยนำเสนอไปอ้างอิงจาก World Economic Forum อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเป็นผู้ผลิตที่ใช้ “น้ำ” เยอะที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และการผลิตเสื้อผ้าฝ้าย 1 ตัว จะต้องใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ถึง 1 ปีครึ่งเลยทีเดียว

อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้ายังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 8-10% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก ก่อให้เกิดน้ำเสียและเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั้งจากการย้อม ฟอกสี นอกจากนี้ 70% ของการผลิตฝ้ายทั่วโลกยังมาจากไร่ที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย 

สุดท้ายปลายทางของเสื้อผ้าคอลเลกชั่น (เคย) ใหม่ ก็ไปสุมรวมเป็นภูเขาขยะ ดั่งสุสานที่บอกเล่าเรื่องราวของแฟชั่นโลกสมัยใหม่ ที่อาจฝังกลบแล้วรอย่อยสลายใน 200 ปี หรือเผาและปล่อยสารพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ (ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเลยจริงๆ) และสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังประสบกับปัญหานี้ 

ในแต่ละปี ชาวอเมริกันทิ้งเสื้อผ้าจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไม่รู้จบ และเมื่อสินค้าฟาสต์แฟชั่นจากจีนที่ราคาถูกถูกนำเข้าอย่างไม่มีการควบคุม พวกมันก็ยิ่งเพิ่มภาระที่หนักขึ้นในเรื่องของการจัดการขยะและผลกระทบต่อธรรมชาติ

เพิ่มภาษีชิ้นต่อชิ้น หนทางสกัดฟาสต์แฟชั่น

จากการประกาศของทรัมป์ ภาษีที่เพิ่มขึ้นต่อสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2025 นับว่าเป็นการปิดช่องโหว่ที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง ภาษี 30% ที่จะถูกนำมาใช้ ส่งแรงกระพื่อมทำให้สินค้าฟาสต์แฟชั่นจากจีนที่เดิมทีมีราคาถูก ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน และอาจเพิ่มเป็น 50% และมากที่สุดที่เป็นไปได้คือ 90% ในอนาคต

แม้ว่าเรื่องนี้อาจทำให้ราคาสินค้าฟาสต์แฟชั่นแพงขึ้น แต่ในมุมมองที่ดี มาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจในการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยจะเก็บภาษีแบบชิ้นต่อชิ้น ไม่เพียงแค่ช่วยลดการบริโภคฟาสต์แฟชั่น แต่ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะสิ่งทอที่ท่วมท้นในสังคมอเมริกัน รวมทั้งทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่นต้องปรับตัวอย่างจริงจังในการผลิตสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ecoeyes-how-trumps-de-minimis-tax-repeal-affects-fast-fashion-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: การตื่นตัวของคนอเมริกันอาจส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน

การตื่นตัวของคนอเมริกันอาจส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน

การปรับตัวนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปริมาณขยะสิ่งทอในสังคม แต่ยังอาจช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคเริ่มพิจารณาการซื้อเสื้อผ้าที่มีคุณภาพมากขึ้น แทนที่จะซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ที่อาจถูกทิ้งอย่างรวดเร็ว

การยกเลิกกฎหมาย De Minimis จึงถือว่าเป็น “หมัดเด็ด” ที่ช่วยปิดช่องโหว่ ที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยเอื้อให้สินค้าราคาถูกจากจีน โดยเฉพาะฟาสต์แฟชั่นจาก Temu, Shein, AliExpress ฯลฯ ทะลักเข้าสหรัฐฯ แบบไม่เสียภาษี ทว่า การยกเลิก De Minimis ยังคงมีทั้งข้อดีและข้อท้าทายที่สำคัญที่มาพร้อมกัน

ข้อดี ช่วยลดผลกระทบจากฟาสต์แฟชั่นที่เกินความจำเป็น กระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน ลดขยะสิ่งทอ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ความท้าทาย การเพิ่มภาษีอาจส่งผลให้ราคาสินค้าฟาสต์แฟชั่นสูงขึ้น และผู้บริโภคบางกลุ่มอาจรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมอาจต้องปรับตัวอย่างยากลำบากในระยะสั้น

ecoeyes-how-trumps-de-minimis-tax-repeal-affects-fast-fashion-SPACEBAR-Photo02.jpg

เราเชื่อว่า...ทุกการเปลี่ยนแปลงมีเรื่องดีเสมอ

นี่อาจถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลง การขึ้นภาษีต่างๆ รวมถึงการยกเลิก De Minimis โดยทรัมป์อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโลกแฟชั่น สังคมอเมริกันและผู้ผลิตสินค้าอาจต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากภาษีใหม่ แต่ในที่สุดมันอาจจะเป็นก้าวแรกที่ช่วยให้เราหันมาใส่ใจการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเป็นการลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์