ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 5: โละตู้กู้โลก (Fast Fashion เร็ว! แรง! ทะลักตู้!)

3 ม.ค. 2568 - 01:56

  • ผลสำรวจพบว่า คนไทย 40% ทิ้งเสื้อผ้าหลังใส่เพียงครั้งเดียว และสร้างขยะสิ่งทอราว 300,000 ตันต่อปี

  • การผลิตเสื้อผ้าฝ้าย 1 ตัว ต้องใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ถึง 1 ปีครึ่ง

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-stop-fast-fashion-SPACEBAR-Hero.jpg

ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก

วิธีที่ 5 : โละตู้กู้โลก (Fast Fashion เร็ว! แรง! ทะลักตู้!)

แฟชั่นสุดปังกำลังจะพังโลก เมื่อเทรนด์อายุสั้น แต่ขยะสิ่งทอยืนยาว 200 ปี 

แนะนำ : เปลี่ยนแฟชั่นหมุนไว>ให้หมุนเวียน (Circular Fashion) เลือกใส่จนเสื้อผ้าเกษียณอายุ

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-stop-fast-fashion-SPACEBAR-Photo V01.jpg

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?) 

ราวในตู้เสื้อผ้าอ่ะ...แน่นไปหรือเปล่า?  ไม่ต้องอายเพราะหลายคนก็เป็นแบบคุณ ที่ช้อปเสื้อผ้ามาในวันโปรปัง ทั้ง 11.11 ,12.12, Black Friday ก็ทั้งลดทั้งแถม แล้วรู้หรือไม่ว่าสถิติการซื้อก่อนแล้วคิดว่าจะได้ใส่ แต่ไม่ได้ใส่ (รวมถึงใส่ไม่ได้) อื้อซ่าพอตัว 

Statista Consumer Insights เผยผลการตอบแบบสอบถามจากผู้บริโภคราว 10,000 คน ในอังกฤษ อินเดีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน ระบุว่าผู้หญิง 12-30% และผู้ชาย 9-23% ซื้อเสื้อผ้ามาแต่ไม่เคยใส่เลย นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่า 80% ของเสื้อผ้าที่ซื้อ จะถูกใส่แค่ไม่กี่ครั้ง แล้วก็ถูกทิ้งให้นอนตู้

ในขณะที่ประเทศไทย จากผลสำรวจของ YouGov55 พบว่า กว่า 40% ของคนไทย ทิ้งเสื้อผ้าหลังใส่เพียงครั้งเดียว ทำให้แต่ละปีไทยมีขยะสิ่งทอราว 300,000 ตัน 

ส่วนในระดับโลกพบว่ามีมากกว่า 92 ล้านตันต่อปี! โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการคิดว่าเสื้อผ้าไม่เหมาะ รู้สึกเบื่อ สะท้อนการเสพติดวัฒนธรรมการบริโภคเกินพอดี (Overconsumption) ที่สิ้นเปลืองทั้งเงินและทรัพยากรไปพร้อมๆ กัน

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-stop-fast-fashion-SPACEBAR-Photo01.jpg

WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)  

เสื้อผ้าที่เราใส่หรือไม่ใส่จะเกี่ยวอะไรกับโลกร้อน ย้อนไปดูตั้งแต่กระบวนการได้มาของวัตถุดิบ ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าดิบ เส้นใยสังเคราะห์ ทุกอย่างที่ได้มามีราคาที่ต้องจ่าย อ้างอิงจาก World Economic Forum อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเป็นผู้ผลิตที่ใช้ “น้ำ” เยอะที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และการผลิตเสื้อผ้าฝ้าย 1 ตัว จะต้องใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ถึง 1 ปีครึ่งเลยทีเดียว

อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้ายังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 8-10% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก ก่อให้เกิดน้ำเสียและเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั้งจากการย้อม ฟอกสี นอกจากนี้ 70% ของการผลิตฝ้ายทั่วโลกยังมาจากไร่ที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย 

สุดท้ายปลายทางของเสื้อผ้าคอลเลคชั่น (เคย) ใหม่ ก็ต้องไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ขยะ สุมรวมเป็นภูเขากลางทะเลทรายอาตากามาในชิลี หรือไปจบที่กานา สุสานที่บอกเล่าเรื่องราวของแฟชั่นโลกสมัยใหม่ ที่อาจฝังกลบแล้วรอย่อยสลายใน 200 ปี หรือเผาและปล่อยสารพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ (ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเลยจริงๆ)

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-stop-fast-fashion-SPACEBAR-Photo02.jpg

HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)  

“โละตู้กู้โลก” คือประตูสู่ความยั่งยืน (Sustainability) จุดเริ่มต้นของการเป็นฮีโร่ที่นักช้อปตัวยงคงต้องศิโรราบ เริ่มจากการปรับทัศนคติเรื่องการซื้อ การบริโภคตามกระแสนิยม ใครที่ชอบช้อปแฟชั่นฮิตติดไซเรนต้องลดให้น้อยลง อาจไม่ถึงขั้นฮวบฮาบ แต่อยากให้ “คิดก่อนซื้อ” ก่อนกดใส่ตะกร้า พิจารณาว่าเป็น “ของมันต้องมี” แล้วจริงๆ 

คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เลือกแบรนด์เสื้อผ้าที่ยั่งยืน เลือกสไตล์ที่ใช่และใส่ได้บ่อย เพื่อให้เกิดการใส่ซ้ำ ใส่วน อารมณ์ Reduce-Reuse-Recycle เลือกช้อปเสื้อผ้ามือสองเพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ หรือลองสนุกกับการมิกซ์แอนด์แมตช์เหมือนไอดอลอย่างครูลูกกอล์ฟ คณาธิป เจ้าของ #Wearวนไป

สำหรับเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่แล้ว ก็ต้อง “คิดก่อนทิ้ง” นอกจากให้ไปจบที่หลุมฝังกลบ เราอาจซ่อมแซมเสื้อผ้าแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ DIY เป็นผ้ากันเปื้อน กระเป๋าเก๋ๆ หรือส่งต่อเป็นเสื้อผ้ามือสองสร้างรายได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสถานที่ที่รับบริจาค หรือส่งไปรีไซเคิล แทนที่จะเก็บมันไว้ให้ล้นตู้เสื้อผ้า

ยุคนี้ใช้ชีวิตติดแกลมแบบสายกรีน ต้อง Save world, Save money รู้จักคิดพลิกแพลง เปลี่ยนแฟชั่นหมุนไวให้หมุนเวียน (Circular Fashion) เลือกใส่จนเสื้อผ้าเกษียณอายุ เรื่องง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้ เริ่มเลย!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์